จัดการโรงเรือนอีแวป ระบบอินเวอร์เตอร์ให้ใช้ประโยชนให้เต็มประสิทธิภาพ (ตอนที่ 5)
จัดการโรงเรือนอีแวป ในตอนนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับเรื่องความต้องการอากาศในสุกรกัน การเลี้ยงสุกรเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เลี้ยงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอดีตเราใช้พื้นที่เลี้ยง 1 ตร.ม.ต่อน้ำหนักสุกร 80 กิโลกรัม ในปัจจุบันมีแนวคิดที่จะเลี้ยงให้ได้ปริมาณสุกรต่อพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น 0.80 – 1.00 ตร.ม/ตัว (น้ำหนัก 100-105 ก.ก.) เนื่องจากที่ดินมีราคาสูงขึ้นการทำประชาคมมีความซับซ้อนมากขึ้นค่าก่อสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ แต่ผู้เลี้ยงต้องตระหนักว่าสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตต้องการอากาศหายใจเช่นเดียวกับมนุษย์ ออกซิเจน (Oxygen) คือก๊าซที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์รวมถึงมนุษย์เราด้วย เพราะถ้าร่างกายขาด ออกซิเจนเพียงไม่กี่นาทีก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อากาศที่สิ่งมีชีวิตหายใจจะมีอ๊อกซิเจนประมาณ 21% นั่นหมายความว่าในโรงเรือนอีแวปทุกพื้นที่ต้องมีปริมาณอากาศที่เพียงพอตามมาตรฐานของสุกร เราเรียกว่า “ ความต้องการ การระบายอากาศ ” ซึ่งสุกรแต่ละระยะมีความต้องการไม่เท่ากันตามตารางด้านล่าง ถ้าปริมาณอากาศไม่เพียงพอต่อสุกรในโรงเรือน สิ่งที่สุกรแสดงพฤติกรรมตอบสนองคือ สุกรไม่กระตือรือร้น ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนอน กินอาหารลดลง การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ลดภูมิคุ้มกัน และต้องไม่ลืมว่าถ้าปริมาณก๊าซตัวใดตัวหนึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นย่อมทำให้สัดส่วนของอ๊อกซิเจนลดลง อย่างแน่นอน น้องๆสัตวบาลฟาร์มสุกร ที่ต้องการจะบริหารโรงเรือนอีแวปให้ได้ประโยชน์สูงสุด ย่อมต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่ต้องเข้าใจเนื่องจากสุกรไม่มีต่อมเหงื่อ เช่นมนุษย์จึงใช้ความรู้สึกของมนุษย์เป็นตัวกำหนดไม่ได้ นั่นคือ “การรับและการสูญเสียความร้อนในตัวสุกร“ CR : โค้ชวิทธ์
จัดการโรงเรือนอีแวป ระบบอินเวอร์เตอร์ให้ใช้ประโยชนให้เต็มประสิทธิภาพ (ตอนที่ 5) Read More »
การเลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อนให้ประสบความสำเร็จ อ่าน 2 แนวทางที่แนะนำจากผู้เชี่ยวชาญซีพีเอฟ-Recommened by Expert
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ภายในโรงเรือนปิด ที่เรียกว่า Evaporative Cooling System หรือที่นิยมเรียกกันว่า โรงเรือนอีแวป (Evap) ซึ่งทำให้แม่ไก่อยู่สบายมากขึ้นในช่วงที่อากาศภายนอกเล้า สูงกว่า 35 C ทำให้ผลกระทบเรื่องอากาศร้อนต่อการให้ผลผลิตของแม่ไก่น้อยกว่าแม่ไก่ที่เลี้ยงอยู่ในโรงเรือนเปิด ปกติแล้วอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของแม่ไก่ อยู่แล้วสบาย จะอยู่ในช่วงประมาณ 18-25 C นอกจากไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อคอยช่วยทำหน้าที่ระบายความร้อนเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์ประเภทอื่นแล้ว ขนที่ปกคลุมอยู่บนตัวไก่ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการระบายความร้อนของแม่ไก่ ดังนั้นเวลาที่อุณหภูมิภายในเล้าอยู่ที่ประมาณ 26-32 C แม่ไก่ก็จะกินอาหารได้ลดลง แต่จะกินน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ถ้าอุณหภูมิในเล้าสูงเกิน 35 C แม่ไก่ก็จะแสดงอาหารหอบ กางปีก หมอบกับพื้นกรง เกิดภาวะเครียดจากความร้อน หรือที่เรียกว่า Heat Stress (ขบวนการทางฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง) แต่ถ้าอุณหภูมิในเล้าสูงเกินกว่า 39 C ก็จะมีผลทำให้แม่ไก่เริ่มทยอยตาย (ปกติอุณหภูมิร่างกายของไก่อยู่ที่ 41.2C) ผลของการเลี้ยงไก่ไข่ในเล้าที่มีอุณภูมิสูงหรือในสภาพอากาศร้อน 1.การให้ผลผลิตไข่ลดลง ขนาดฟองไข่เล็กลง คุณภาพเปลือกด้อยลง เนื่องจากแม่ไก่กินอาหารได้ลดลง ทำให้แม่ไก่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการสร้างไข่ 2.แม่ไก่จะแสดงอาการหอบ นอกจากแม่ไก่สูญเสียพลังงานไปกับการหอบเพื่อระบายความร้อนแล้ว การหอบยังมีผลทำให้แม่ไก่สูญเสีย CO2 ที่จะแม่ไก่จำเป็นต้องใช้ในขบวนการการสร้างไข่ ซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพเปลือกไข่ด้อยลง เช่น เปลือกบางลง สีซีดลง เป็นต้น 3.มูลไก่จะมีลักษณะเหลวขึ้น เนื่องจากแม่ไก่ต้องกินน้ำเพิ่มขึ้น โดยปกติถ้าแม่ไก่อยู่ในเล้าที่อุณหภูมิอยู่ในช่วง 18-25C สัดส่วนการกินน้ำต่ออาหารของแม่ไก่จะอยู่ที่ 1.8-2.0 เท่าของอาหารที่กินได้ แต่ถ้าอากาศภายในเล้าร้อนขึ้น สัดส่วนการกินน้ำต่ออาหารอาจเพิ่มขึ้นเป็น >2.6 เท่าของอาหาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่แม่ไก่รู้สึก ณ เวลานั้นๆ 4.ตัวตายต่อวันจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรฐานการเลี้ยง ซึ่งการตายของแม่ไก่ที่มีสาเหตุจากอากาศร้อน จะพบว่าแม่ไก่มักจะตายเยอะในช่วงเวลาบ่าย ช่วงที่อากาศร้อนจัด และพบว่าแม่ไก่ที่ตัวอ้วนๆ จะตายมากกว่าตัวที่มีน้ำหนักตัวได้ตามมาตรฐาน หรือตัวที่ผอม และเมื่อผ่าซากดูจะพบวิการตับแตก เนื้อหน้าอกขาวซีด อุณหภูมิในช่องท้องค่อนข้างสูง แนะนำ 2แนวทางการจัดการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือนเปิด ในช่วงอากาศร้อน 1.ด้านโรงเรือน 1.1 ลดการแผ่ความร้อนจากหลังคาโรงเรือนมาสู่ตัวไก่ โดยการติดสปิงเกอร์บนหลังคาโรงเรือน การเปิดสปริงเกอร์ ควรเปิดก่อนที่อากาศภายนอกจะร้อนเพื่อลดการสะสมของความร้อนที่หลังคา เช่นเปิดสปริงเกอร์ตั้งแต่ เวลา 9:30 – 16:00 น. เป็นต้น หรือการทำหลังคาชั้นที่ 2 ด้วยหญ้าคา, ใบจาก ต่อจากหลังคาสังกะสีหรือกระเบื้อง 1.2 ติดตั้งพัดลมภายในเล้า เพื่อระบายอากาศร้อนออกจากตัวไก่และโรงเรือน 1.3 การติดตั้งระบบพ่นหมอกภายในโรงเรือนร่วมกับพัดลมระบายอากาศ 1.4 ติดตั้งผ้าม่านป้องกันแสงแดดส่องเข้าภายในเล้า หรือใช้การปลูกต้นไม้รอบๆโรงเรือน เช่น ต้นกล้วย แต่ทั้งนี้ผ้าม่านจะต้องไม่ไปปิดกันทิศทางลมธรรมชาติที่จะเข้าเล้า 2. ด้านน้ำและอาหาร 2.1 จัดเตรียมน้ำสะอาดที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 20-25C ให้แม่ไก่ได้กินตลอดช่วงที่อากาศร้อน หรือเติมน้ำแข็งลงในถังพักน้ำเพื่อปรับลดอุณหภูมิของน้ำก่อนให้ไก่กิน 2.2 อย่าให้ถังพักน้ำหรือท่อน้ำที่ให้ไก่กินถูกแสงแดดส่อง เพราะจะทำให้อุณหภูมิของน้ำที่อยู่ภายในสูงขึ้น ทำให้ไก่กินน้ำลดลง 2.3 ผสมไวตามิน เช่น ไวติมิน C, A, E และ Bรวม หรือไวตามิน+กรดอะมิโน ในน้ำที่ให้ไก่กิน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้ไวตามิน C คือ ช่วงเวลาก่อนที่อากาศจะเริ่มร้อน อาจจะเป็นช่วง 9:00 – 10:00 โมง (ขึ้นอยู่ในแต่พื้นที่) นอกจากนั้นการเสริมสารอิเล็คโตไลน์ในน้ำก็สามารถช่วยลดภาวะ Heat Stress ในแม่ไก่ลงได้ 2.4 หลังจากให้น้ำที่ผสมไวตามินเลร็จเรียบร้อย ต้องคอยหมั่นทำความสะอาดรางน้ำหรือท่อนิปเปิล เพื่อป้องกันการสะสมของเมือกภายในรางน้ำหรือท่อน้ำกิน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไก่ท้องเสียตามมาได้ 2.5 ให้อาหารมื้อเช้าให้เร็วขึ้น อาจจะเป็นช่วงเวลา 5:00 – 6:00 โมง เป็นต้น ส่วนมื้อบ่ายก็ให้ในช่วงที่อากาศเริ่มเย็น เช่น เวลา 17:00 – 18:00 น. ร่วมกับการเปิดไฟช่วงเวลา 23:00 – 01:00 น.ให้ไก่ตื่นขึ้นมากินอาหารเพิ่มจากโปรแกรมแสงปกติ 2.6 ควรงดการกระตุ้นการกินอาหารหรือเดินเกลี่ยอาหารในรางในช่วงที่อากาศร้อน เช่น ช่วงเวลา 12:00 – 14:00 น. เพราะจะทำให้แม่ไก่เกิดการเคลื่อนไหว เกิดการสร้างความร้อนขึ้นมาได้ 2.7 เลือกใช้อาหารที่มีความสมดุลของโปรตีนและพลังงานให้เหมาะสมต่อความต้องการของแม่ไก่ เพื่อลดการสูญเสียพลังงานในการขับสารอาหารส่วนเกินออกจากร่างกาย CR : ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์ คุณสมเจต