Logo-CPF-small-65png

swine fever

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน กลับมาเจอกันอีกครั้งกับรวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 ตอนนี้ถือว่าเป็นตอนพิเศษที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยบทความที่ผ่านมาจะกล่าวถึงการป้องกันและควบคุมโรคเป็นส่วนใหญ่ แต่บทความนี้จะเล่าประสบการณ์ของฟาร์มเกษตรกรรายย่อยในประเทศหนึ่ง ขนาด 164 แม่ และ 300 แม่ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เป็นปกติมาถึง 60 วันและมากกว่า 1 ปีตามลำดับ ในขณะที่ฟาร์มรอบข้างในรัศมีไม่เกิน 170 ถึง 650 เมตร หมูทั้งหมดถูกทำลายไปมากกว่า 3,000 ตัว ตามมาตรการลดความเสี่ยงจากโรคระบาด  ซึ่งฟาร์มทั้งสองแห่งนี้ใช้ระบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิดหรือที่เรียกว่าโรงเรือนอีแว๊ป และนั้นดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในคนในปัจจุบันเพราะเปรียบเสมือนมีโควิด 19 เกิดขึ้นที่ปากซอยหน้าบ้านเลยที่เดียว เรามาติดตามกันดูนะว่าเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นรอดพ้นภัยร้ายครั้งนี้มาได้อย่างไร เริ่มต้นจากทีมสัตวแพทย์​และผู้ดูแลโครงการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู​ แจ้งสถานการณ์​ความเสี่ยงให้เกษตรกรทราบ เพื่อขอความร่วมมือกับเกษตรกรให้ปฏิบัติ​ตามข้อแนะนำการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด​ และมีทีมงานตรวจติดตามการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด​ โดยไม่เข้าไปในเขตฟาร์ม​ของเกษตรกร ความร่วมมือแรกที่ขอจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคือ การให้คนงานในฟาร์มพักในที่พักของฟาร์มเท่านั้นยกเว้นกรณีจำเป็นต้องออกไปภายนอกก็จะต้องแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้หามาตรการป้องกันการนำเชื้อโรคกลับเข้ามาในฟาร์ม โดยพนักงานเลี้ยงหมูทุกคนก่อนเข้าปฏิบัติงานในเล้าหมู ต้องถอดรองเท้าและเสื้อผ้าที่ใช้ภายนอกฟาร์มออก แล้วอาบน้ำและเปลี่ยนชุดก่อนเสมอ และใช้รองเท้าบู้ทเฉพาะที่ใช้ในฟาร์มเท่านั้นโดยก่อนเข้าฟาร์มต้องจุ่มรองเท้าบู้ทในน้ำย่าเชื้อ 2 ครั้ง ที่หน้าห้องอาบน้ำและครั้งที่ 2 ที่ประตูเล้าก่อนเข้าเล้าหมู เกษตรกรเจ้าของฟาร์มจะเป็นผู้ออกไปภายนอกเพื่อซื้อของกินของใช้มาให้พนักงานในฟาร์มและอนุญาตให้ซื้อของเฉพาะของจากร้านค้าที่สะอาด ถูกหลักอนามัย เท่านั้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นที่เสี่ยง และห้ามซื้อเนื้อสัตว์กีบ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เข้ามาประกอบอาหารในฟาร์ม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้องด้วย และเพื่อป้องกันคนภายนอกเข้ามาในเขตฟาร์ม ทางฟาร์มจะต้องปิดล๊อคประตูรั้วฟาร์มอยู่ตลอดเวลา  และทำการแบ่งเขตพื้นที่เลี้ยงหมูและที่พักอาศัยของคนงานออกจากกันให้ชัดเจน โดยทำแนวเขตด้วยรั้วสำรอง โดยใช้ห้องอาบน้ำก่อนเข้าเล้าหมูเป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่ภายนอกและภายในฟาร์มที่เป็นเขตเลี้ยงหมู การส่งอาหารถุงมาใช้ที่ฟาร์มจะกำหนดให้มาส่งเพียงเดือนละครั้ง โดยกำหนดจุดโกดังวางอาหารให้ไว้ให้อย่างชัดเจน โดยก่อนรถขนส่งอาหารถุงมาถึง พนักงานในเล้าหมูจะต้องมาขนอาหารชุดเดิมเข้าไปไว้ในเล้าหมูก่อนอาหารชุดใหม่จะมาลงที่โกดัง เพื่อป้องกันการสัมผัสกันของพนักงานในเล้าหมูกับพนักงานขนส่งอาหาร และเมื่ออาหารชุดใหม่ถูกส่งมาถึงจะต้องวางพักไว้ 24 ชั่วโมงก่อนอนุญาตให้พนักงานเล้าหมูมานำไปใช้เลี้ยงหมู และจะกำหนดเส้นทางการขนส่งสำหรับรถทุกคันที่จำเป็นจะเข้ามาที่ฟาร์ม เช่น รถอาหารสัตว์ รถรับลูกหมูหย่านม จะต้องไม่ผ่านพื้นที่หรือเส้นทางที่เสี่ยงต่อโรค เช่น เส้นทางที่มีเล้าหมูที่เป็นโรคหรือเป็นเส้นทางที่เป็นจุดฝังทำลายหมูติดเชื้อ เป็นต้น และเมื่อรถทุกชนิดมาถึงที่ฟาร์มก็จะถูกพ่นยาฆ่าเชื้อที่ประตูฟาร์มก่อนเข้าไปในเขตฟาร์มเสมอ และรถที่ไม่จำเป็นจะกำหนดให้จอดด้านนอกประตู ไม่อนุญาตให้ขับเข้าไปจอดในเขตฟาร์ม และการหย่านมลูกหมูจากเล้านี้จะทำเพียงเดือนละครั้ง เพราะทำระบบการผสมแบบเป็นชุด หรือที่เรียกว่าระบบ Batch มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยลูกหมูจะถูกหย่านมเพื่อลงเลี้ยงในพื้นที่ที่เป็นเขตเดียวกัน และจะมีโปรแกรมตรวจสอบภาวะปลอดโรคที่ฟาร์มปลายทางช่วง 7 และ 45 วันหลังรับเข้า โดยสุ่มเก็บเลือดหมูและน้ำลาย หรือการสวอปพื้นคอก โดยระหว่างที่รอเก็บตัวอย่างส่งตรวจตามโปรแกรม คนงานจะต้องคอยตรวจสอบสุขภาพสุกรตลอดเวลา หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไม่กินอาหาร นอนซึม ให้แจ้งหัวหน้าผู้ที่รับผิดชอบดูแลทันที เพื่อเก็บตัวอย่างประเมินสภาวะการติดเชื้อโดยเร็ว และในช่วงที่พื้นที่นั้นยังมีข่าวการระบาดของโรคอยู่ในช่วง 30 วันแรก ก็จะหยุดผสมพันธุ์แม่หมู เมื่อผ่านช่วงที่มีความเสี่ยงและปรับปรุงระบบป้องกันโรคของฟาร์มจนมีความพร้อมที่สุดแล้ว ถึงจะเริ่มกลับมาผสมพันธุ์ตามปกติ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ฟาร์มเกษตรกรหยุดการขายแม่หมูคัดทิ้ง และหยุดการทดแทนหมูพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าฟาร์ม จนกว่าจะไม่มีรายงานการเกิดโรคในพื้นที่เป็นเวลา 60 วัน นอกจากนี้ยังต้องลดการสัมผัสกับบุคคลภายนอกโดยหยุดขายมูลสุกรออกจากฟาร์ม ในส่วนของการป้องกันสัตว์พาหะก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะแมลงวันที่มีรายงานยืนยันชัดเจนว่าสามารถแพร่เชื้อโรค ASF ได้ จากการที่ได้สุ่มจับแมลงวันในพื้นที่เสี่ยงโรคมาตรวจ ดังนั้นเพื่อควบคุมแมลงวัน เกษตรกรจึงต้องปิดโรคเรือนให้มิดชิด และมีมุ้งเขียวป้องกันเพิ่มเติมส่วนที่เป็นเยื่อกระดาษหน้าเล้าหมู และประตูทางเข้า นอกจากนั้นยังต้องวางกาวดักจับแมลงวันรอบ ๆ เล้าหมูเพื่อป้องกันแมลงไม่ให้เข้าไปในโรงเรือน นอกจากนี้ทางฟาร์มยังได้ป้องกันสัตว์พาหะอื่นๆ ร่วมด้วย โดยการวางยาพิษเบื่อหนู และกาวดักหนู รอบ ๆ เล้าหมู และปรับปรุงรั้วฟาร์มให้สามารถป้องกัน หมา และแมวได้ ในประเด็นเรื่องน้ำ เป็นความโชคดีที่ทางฟาร์มใช้น้ำบาดาลสำหรับการเลี้ยงหมูอยู่แล้วจึงลดความเสี่ยงการติดเชื้อผ่านทางน้ำ สำหรับฟาร์มที่ยังใช้น้ำผิวดินอยู่ควรเตรียมมาตรการหากโรคเข้ามาใกล้พื้นที่ ควรงดใช้น้ำผิวดินเพื่อการเลี้ยงหมูโดยเด็ดขาด และที่สำคัญทางฟาร์มได้จัดทำบ่อทิ้งซากไว้ในฟาร์มอยู่แล้ว โดยจะไม่นำหมูตายออกออกนอกพื้นที่ฟาร์มหมูโดยเด็ดขาด นอกจากนั้นเพื่อติดตามการปฏิบัติว่าเป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้หรือไม่ ทางผู้ดูแลโครงการได้ติดตั้ง CCTV ไว้ 3 จุด บริเวณหน้าฟาร์ม ด้านหน้าห้องอาบน้ำ และภายในเล้าหมู เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังด้านการป้องกันโรคตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อความสะดวกในการติดตามสุขภาพหมูภายในโรงเรือนโดยสัตวแพทย์และสัตวบาล โดยไม่ต้องเข้าไปในโรงเรือนเพื่อป้องกันโรคการนำเชื้อโรคเข้าไปในฟาร์มหมู และป้องกันไม่ให้โรคปนเปื้อนไปกับผู้ปฏิบัติงานไปยังฟาร์มหมูอื่น ๆ ในส่วนการประเมินติดตามซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลได้กำหนดมาตรการให้ใหม่ทันทีเป็นกรณีพิเศษ เริ่มจากโปรแกรมตรวจหาโรค โดยหากพบหมูในเล้ามีอาหารผิดปกติ จะเก็บตัวอย่างเลือดหรือน้ำลายหมูเหล่านั้นเพื่อตรวจสอบโรคทันที โดยสัตวแพทย์หรือสัตวบาลที่รับผิดชอบ จากจากนี้ยังมีโปรแกรมตรวจประเมินติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการเก็บตัวอย่างง่ายๆที่ทำได้โดยเกษตรกรหรือคนเลี้ยงประจำเล้า โดยการสวอปน้ำลายโดยใช้ผ้าก๊อซป้ายน้ำลายแม่สุกร​ 5 ตัว และป้ายพื้นเล้าคลอด 5 คอก​ ทุกสัปดาห์​ในช่วงเดือนที่แรกที่มีข่าวโรคระบาดรอบ ๆ ฟาร์ม และหลังจากนั้น​ เดือนที่สอง จะเก็บตัวอย่างแบบเดิมทุก 2 สัปดาห์ และในเดือนต่อมาจะเก็บตัวอย่างติดตามทุกเดือน หากไม่พบอาการผิดปกติสัตวแพทย์หรือสัตวบาลไม่ควรเข้าไปเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง เพราะอาจจะนำโรคเข้าฟาร์มหรือนำโรคจากฟาร์มที่เสี่ยงสูงแพร่ไปยังจุดอื่นได้ และก่อนหย่านมลูกสุกรก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจสอบ โดยเก็บตัวอย่างเลือดแม่สุกรเล้าคลอดจำนวน 15 ตัวอย่าง และสวอบเล้าคลอด 3 ตัวอย่าง โดยที่ผ่านมาทุกตัวอย่างให้ผลลบต่อการตรวจ และหมูในฟาร์มก็ยังมีสุขภาพที่ดีและปลอดจากโรค จนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน จากสถานการณ์ที่กล่าวมานี้ เป็นมาตรการการป้องกันโรคที่ได้ปฏิบัติจริง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ฟาร์มหมูที่ปฏิบัติอย่างจริงจังก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติโรคร้ายแรงนี้มาได้ และฟาร์มที่กล่าวมานี้ก็เป็นเกษตรกรผู้เลียงหมู ถ้าสังเกตมาตรการที่กำหนดให้จะเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงโดยทั่วไปทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้มีมาตรการอะไรแปลกใหม่เลย จุดสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติอย่างจริงจังตามมาตรการเท่านั้นเอง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงหมูแบบเล้าเปิด มาตรการข้างต้นอาจจะปฏิบัติไม่ได้ครบทุกข้อ โดยเฉพาะเรื่องสัตว์พาหะ แต่ก็ไม่แน่ว่า หากปฏิบัติข้ออื่น ๆ ให้ได้เต็มที่ ก็อาจจะรอดจากการติดโรคได้เหมือนกัน หรืออย่างน้อยก็อาจจะยืดระยะเวลาให้ได้นานเพียงพอที่จะขายหมูที่ยังปกติออกให้หมดก่อนที่โรคจะมาถึง ดังมาตรการที่ได้กล่าวไว้เมื่อตอนที่ 3  ที่ผ่านมา ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นตัวอย่างหรือแนวทางหนึ่งที่อาจจะนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ตามหน้างานของแต่ละฟาร์มได้ หวังว่าผู้เลี้ยงหมูทุกท่านคงพอได้แนวทางเพื่อนำไปป้องกันฟาร์มของท่านให้รอดพ้นจากภัยร้ายในครั้งนี้   น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพีเอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน) อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ   Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน Read More »

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 3 : ถ้าโรคไปไกลจะใช้แนวทางใหนดี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 3 : ถ้าโรคไปไกลจะใช้แนวทางใหนดี จากบทความแรกจนมาถึงบทความตอนที่ 3 ผู้เขียนหวังว่าผู้ประกอบการฟาร์มหมู ทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ คงพอได้แนวทางในการป้องกันและควบคุมโรค ASF พอสมควร และหวังว่าท่านยังคงรอดพ้นจากภัย ASF อยู่ได้  สำหรับบทความตอนนี้เป็นการคาดการณ์ความเป็นไปของโรค ASF ในภายภาคหน้าซึ่งแม้ไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็อยากให้ทุกท่านเตรียมใจและเตรียมการณ์ไว้ก่อนเพราะความไม่แน่นอนย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ กรณีที่ว่านั้นก็คือถ้าประเทศไทยไม่สามารถหยุดยั้งโรค ASF เอาไว้ได้ และโรคมีการแพร่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ณ เวลานั้น เราจะมีแนวทางการบริหารจัดการอย่างไรได้บ้างตามหลักวิชาการ  เพื่อลดความเสียหายจากโรคให้น้อยที่สุด ทั้งในด้านงบประมาณในการป้องกันและควบคุมโรค การลดการสูญเสียจากการตายของหมูที่ป่วยเป็นโรค  การป้องกันและควบคุมไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นฟูให้ฟาร์มหมูสามารถกลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้งได้อย่างปลอดภัย ในทางทฤษฏีการควบคุมโรค  ทำได้ค่อนข้างง่าย โดยอาศัยหลักการ รู้เร็ว จัดการเร็ว โรคจะจบเร็ว โดยการรู้เร็วหมายถึงการตรวจพบโรคให้ได้เร็วที่สุดตั้งแต่มีโรคระบาดในพื้นที่  จัดการเร็วหมายถึงการทำลายหมูป่วยเป็นโรค และการสืบสวนโรคหาหมูที่มีความเสี่ยงว่าจะสัมผัสโรคแล้วทำลายด้วยการฝังหรือเผา  เพื่อไม่ปล่อยให้หมูหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่มีความเสี่ยงหลุดรอดการตรวจสอบออกไปแพร่เชื้อโรคต่อได้ ซึ่งหากทำครบ 2 ประเด็นหลักที่กล่าวมา โรคก็จะจบได้อย่างรวดเร็ว ในบทความนี้ผู้เขียนขอใช้ประสบการณ์จากการทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค และข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงการระบาดของโรค ASF ในประเทศต่างๆ เพื่อสรุปเป็นทางเลือกสำหรับการควบคุมโรค ASF ของประเทศไทย ในกรณีที่โรคแพร่ระบาดมากขึ้นทั้งในส่วนผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายกลางและรายใหญ่ ซึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ สามารถใช้ควบคุมโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรค อหิวาต์สุกร และ พี อาร์ อาร์ เอส  สำเร็จมาแล้ว เพียงครั้งนี้ต้องเอามาปรับใช้ให้สอดคล้องตามลักษณะของโรค โมเดลที่ 1 การทำลายหมูทั้งหมดในฟาร์มที่เกิดโรคและฟาร์มรอบๆ ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือ Stamping Out โมเดลนี้ในทางทฤษฏีถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดรุนแรงรวมทั้งโรค ASF การควบคุมการระบาดของโรคในช่วงแรกของทุกประเทศที่การระบาดของโรคยังไม่มากมักใช้โมเดลนี้ในการควบคุมโรค วิธีการคือเมื่อตรวจพบหมูเป็นโรคในฟาร์มใดฟาร์มหนึ่งจะขีดวงเป็นรัศมีเพื่อทำลายหมูในพื้นที่รอบจุดเกิดโรค โดยจะทำลายหมูทั้งหมดในฟาร์มที่พบโรคด้วยวิธีการฝังหรือเผาแบบ Total depopulation เพื่อตัดวงจรการแพร่โรค รวมถึงการทำลายหมูในรัศมี 1 , 3 และ 5 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ รวมถึงการห้ามจำหน่ายหมูมีชีวิตในเขตพื้นที่ระบาดเข้าโรงชำแหละด้วย โดยความสำเร็จของโมเดลนี้มักจะไปเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินชดเชย การทำลายหมูที่ป่วยเป็นโรค และหมูที่มีความเสี่ยงจะติดโรคให้กับผู้เลี้ยงหมูด้วยเสมอ หากจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่ามูลค่าหมูจริงของหมูมากๆ ผู้เลี้ยงหมูก็มักแอบลักลอบขายหมูป่วยหรือหมูที่ต้องสงสัยว่าป่วยออกไปก่อนที่ผู้มีอำนาจจะเข้าไปตรวจสอบและยืนยันการติดโรค เลยทำให้ในหลายประเทศไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคด้วยวิธีนี้  อีกทั้งการสืนสวนโรคในฟาร์มหมูเพื่อหาความเชื่อมโยงและความเสี่ยง ก็มักไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ และมักไม่ทันต่อเหตุการณ์ ทำให้โรคลุกลามไปในวงกว้าง โมเดลที่ 2  ตัดไฟแต่ต้นลม  โมเดลนี้อาศัยหลักคิดที่เรียกว่า “ป้องกันไว้ก่อน” โดยอาศัยประสบการณ์เดิมว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นแล้ววางแผนป้องกันไว้ก่อน เช่นเดียวกับกรณีพอทราบว่าไฟเริ่มไหม้พื้นที่ป่า เราก็ทำแนวกันไฟ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามต่อไปใด้ ไฟป่าก็จะดับไปเองในที่สุดเพราะไม่มีตัวต่อเชื้อไฟ กรณีโรค ASF ก็เช่นเดียวกัน ทุกท่านคงทราบดีแล้วกว่าโรคนี้มักจะระบาดในฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือกลุ่มฟาร์มที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดีพอก่อนเสมอ ดังนั้นหากเรามีข้อมูลด้านการระบาดอย่างเพียงพอจนสามารถประมาณการได้ว่าพื้นที่ใดโรค กำลังระบาดมาถึง เราจะไม่ปล่อยให้ผู้เลี้ยงหมูเหล่านั้นต้องเผชิญกับโรคเพียงลำพังและหมูในฟาร์มเป็นโรคตายทั้งหมด แล้วรอรับเงินชดเชยจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนอื่นๆ  เพื่อขอเข้าทำลายหมู ด้วยโมเดลตัดไฟแต่ต้นลม สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมูรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์และผู้ประกอบการในธุรกิจหมูทั้งหมด สามารถร่วมมือกันทำได้ โดยการใช้เงินกองทุนชดเชยโรคระบาดหรือเงินจากการระดมทุนเฉพาะกาล รับซื้อหมูของผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในพื้นที่รัศมี 10-20 กิโลเมตรจากจุดที่พบว่ามีการระบาดของโรค และต้องเป็นฟาร์มที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับจุดเกิดโรค โดยมีเงื่อนไขรับซื้อหมูในราคาตลาดเฉพาะหมูที่ผ่านการตรวจยืนยันว่าปลอดจากโรค ASF แล้วเท่านั้น และส่งเข้าโรงชำแหละที่กำหนดให้เพื่อตรวจติดตามสถานะปลอดโรค ส่วนกรณีหมูแม่พันธุ์และหมูที่ยังขายขุนไม่ได้ จะพิจารณาชดเชยเป็นรายได้ที่เหมาะสมให้กับผู้เลี้ยง โดยเกษตรกรที่ยินดีเข้าร่วมโครงการตัดไฟแต่ต้นลมจะได้รับเงินจากการขายหมูตามราคาตลาดและเงินชดเชยจากหมูที่ไม่สามารถขายเข้าโรงชำแหละได้      และหลังจากในพื้นที่นั้นภาวะโรคระบาดสงบลงแล้วหรือไม่มีโรคเกิดขึ้นภายใน 60 วัน ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยก็สามารถนำหมูชุดใหม่เข้าเลี้ยงได้ ตามการประเมินของเจ้าหน้าที่ปศุตว์ในแต่ละพื้นที่ เพราะฟาร์มของเขาเหล่านั้นยังไม่เคยมีโรคระบาด ASF มาก่อน ซึ่งโมเดลนี้จะต่างจากโมเดลแรกที่จะต้องให้ผู้เลี้ยงหมูหยุดการเลี้ยงหมูเป็นเวลานานกว่า เพราะในฟาร์มเคยมีโรคเกิดขึ้นแล้ว โดยโมเดลนี้ ภาครัฐหรือกองทุนที่สนับสนุนการป้องกันโรคจะได้ประโยชน์จาการที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อชดเชยการทำลายหมูที่ป่วยและตายโดยไม่มีรายได้กลับคืนมา ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูรายอื่นๆ ก็จะไม่มีความเสี่ยงจากโรคในพื้นที่ตนเอง และที่สำคัญผู้เลี้ยงหมูรายย่อยก็ยังพอมีรายได้จากการขายหมูเพื่อทำทุนเลี้ยงหมูต่อเมื่อภาวะโรคในพื้นที่นั้นสงบลง และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโรคก็มีแนวโน้มจะช้าลง เนื่องจากไม่มีหมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคมารับเชื้อและแพร่เชื้อต่อไป ผู้เขียนเชื่อมันว่าหากมีการสรุปแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โมเดลตัดไฟแต่ต้นลม จะเป็นโมเดลที่น่าสนใจ ที่จะช่วยลดความสูญเสียในการดำเนินธุรกิจฟาร์มเลี้ยงหมูลงได้มาก  แต่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วน และต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ASF อย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตามโมเดลนี้อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดว่า เป็นความพยายามของผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ที่จะมุ่งการทำลายผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ดั้งนั้นก่อนดำเนินการควรชี้แจงและทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือการช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยก่อนที่โรคระบาดจะแพร่มาถึง โมเดลที่ 3 การทำลายหมูบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้หมูที่เหลือในฟาร์มติดเชื้อหรือ Partial Depopulation โมเดลนี้ น่าจะเป็นทางเลือกเฉพาะฟาร์มหมูรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ที่มีความพร้อมสูงมากด้านระบบการป้องกันและควบคุมโรค และเข้าใจการระบาดของโรคเป็นอย่างดี และต้องมีความพร้อมด้านการตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการ และที่สำคัญควรได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่นั้นๆ โดยในระหว่างประเมินความสำเร็จของโครงการ ผู้เลี้ยงหมูจะสามารถส่งหมูขุนเข้าโรงชำแหละของตนเองเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และจะต้องแสดงผลการตรวจว่าหมูในเล้านั้นปลอดจากการติดเชื้อภายใน 15 วันก่อนการเคลื่อนย้ายหมูเข้าโรงชำแหละ และต้องตรวจสอบการติดโรคอีกครั้งที่โรงชำแหละ หรือกรณีที่ต้องการย้ายหมูออกจากฟาร์มจะทำได้เฉพาะเล้าที่ผ่านการตรวจสอบว่าภายในรอบ 15 วันก่อนการเคลื่อนย้ายไม่พบการติดเชื้อ และต้องย้ายไปเลี้ยงต่อในพื้นที่ที่ไม่มีเล้าหมูอื่นๆ ในรัศมี 5 กิโลเมตร หลังจากลงเลี้ยงต้องตรวจสอบการติดเชื้อต่ออีกอย่างน้อย 30-45 วัน ปัจจัยสู่ความสำเร็จของโมเดลนี้ คือการทราบให้เร็วที่สุดว่าหมูในฟาร์มติดโรค และในฟาร์มมีการบริหารจัดการฟาร์มที่เอื้อต่อความสำเร็จในการควบคุมการแพร่กระจายโรค เช่น  มีเล้ากักโรคสำหรับรับสุกรทดแทน พนักงานพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรค มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ในแต่ละเล้าต้องแยกพนักงานเลี้ยงกันอย่างชัดเจน ไม่ใช้อุปกรณ์การฉีดวัคซีนร่วมกันในแต่ละเล้า  ระบบการให้น้ำและอาหารเป็นแบบรายตัว คอกเลี้ยงหมูขนาดไม่ใหญ่เกินไป มีการป้องกันสัตว์พาหะอย่างจริงจัง และมีมุ้งป้องกันแมลงวัน เป็นต้น โดยหลักการทำ Partial Depopulation ก็คือทำลายสุกรบางส่วนในฟาร์ม ทั้งนี้อาจเป็นรายตัว รายคอก รายเล้า หรือหลายๆ เล้า ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาที่ตรวจพบหมูป่วย และความเชื่อมโยงของหมูที่ป่วยกับหมูกลุ่มอื่น ๆ ในฟาร์ม  หากพบโรคได้เร็วและโรคยังไม่แพร่กระจายไปมากในฟาร์ม ความสำเร็จก็ยังพอมี แต่หากโรคแพร่กระจายไปมาก แนะนำให้ใช้โมเดลแรกคือการทำลายหมูทั้งหมดในฟาร์มจะได้ผลดีกว่า การตัดสินในว่าจะดำเนินการใช้โมเดล Partial Depopulation หรือไม่นั้น ต้องอาศัยข้อมูลด้านระบาดของโรค การตรวจสอบยืนยันการติดเชื้อโรคในฟาร์มด้วยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการสืบสวนหาความเชื่อมโยงของการบริหารจัดการภายในฟาร์ม ซึ่งต้องประเมินโดยผู้ที่เชี่ยวชาญและที่สำคัญอย่างยิ่งคือการตรวจติดตามสถานะฝูงหรือ Monitoring program ต้องพร้อมสามารถตรวจติดตามการแพร่กระจายโรคได้อย่างทันท่วงที และหลังจากสรุปว่าจะใช้โมเดล Partial Depopulation ควรประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในฟาร์ม มีการเขียนข้อกำหนดในการปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องในฟาร์มทุกอย่างชัดเจน รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานแบบรายวัน รายสัปดาห์ และการประเมินความสำเร็จของการใช้โมเดลนี้ จากที่กล่าวมานั้นเป็นแนวทางในการควบคุมโรค ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดใน 3 โมเดล หากดำเนินการตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ด้วยหลักการ PDCA ตั้งแต่ Plan หรือมีการวางแผนที่ดี Do คือการปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด Check คือการตรวจสอบอยู่เสมอว่าจะมีอะไรที่อาจผิดพลาดไม่เป็นตามแผนที่วางไว้ และสุดท้าย Act คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในกรณีที่พบความผิดพลาดเกิดขึ้นในการดำเนินงาน ผู้เขียนหวังว่าแนวทางที่นำเสนอมาคงพอใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงหมู และผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจฟาร์มหมูที่จะใช้เพื่อการควบคุมโรค ASF   เพื่อช่วยลดความสูญเสียจากโรคระบาด และทำให้ธุรกิจเลี้ยงหมูยังคงดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน และท้ายสุดผู้บริโภคในประเทศจะได้มีเนื้อหมูบริโภคอย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพีเอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน) อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ   Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 3 : ถ้าโรคไปไกลจะใช้แนวทางใหนดี Read More »

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค ข้อมูลในเชิงวิชาการพบว่าโรคระบาด ASF ที่พบได้ทุกประเทศทั่วโลก มักเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือผู้เลี้ยงหมูที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคทีดีก่อนเสมอ  ดังได้กล่าวแล้วในบทความที่ 1 ดังนั้นหากมีคำถามว่าในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมูของประเทศ พวกเราจะช่วยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ปลอดภัยได้อย่างไร เพราะเมื่อมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยติดโรค ความเสี่ยงก็จะเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในเมื่อเราท่านทราบดีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเหล่านั้นล้วนขาดความพร้อมทั้งด้าน การเข้าถึงข้อมูล งบประมาณ และองค์ประกอบพื้นฐานด้านการป้องกันโรค จากคำถามที่ท้าทายแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางออก เพียงแต่ทางออกนั้นต้องอาศัยผู้เลี้ยงหมูมีความพร้อมมากกว่า หรือผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจหมู เขาไปให้ความช่วยเหลือตามแนวทางดังนี้ เริ่มต้นจากต้องผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟาร์มหมูต้องร่วมกันไปให้องค์ความรู้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ทำในสิ่งที่ตัวตัวผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเองทำได้เป็นเบื้องต้นด้านการป้องกันโรค ในเรื่องต่อไปนี้ ไม่ใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเลี้ยงหมู เพราะเศษอาหารเหล่านี้อาจมีเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือหากจำเป็นต้องใช้ต้องต้มให้เดือดอย่างน้อย 30 นาที เมื่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อยออกไปทำธุระภายนอกฟาร์ม ก่อนเข้ามาเลี้ยงหมูต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า ก่อนเสมอ ไม่ให้คนภายนอกเข้าเล้าหมูตนเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าซื้อหมู โดยอาจเจรจาตกลงซื้อขายด้วยแอบปิเคชั่นบนมือถือ ไม่ให้รถรับซื้อหมูและคนซื้อหมูเข้ามาถึงในเล้าโดยอาจใช้วิธีการต้อนหมูให้ห่างจากเล้าเพื่อไปขึ้นรถจับหมูโดยเจ้าของเล้าต้องไม่ไปสัมผัสกับรถที่มาซื้อหมู ไม่ซื้อหมูจากพื้นที่มีความเสี่ยงจากโรคระบาดเข้ามาเลี้ยง อีกทั้งไม่ซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากภายนอกมาบริโภคในฟาร์ม งดการขายมูลหมูจากรถรับซื้อที่ไปรับซื้อมูลจากหลายๆ ฟาร์มในช่วงเวลาการระบาดของโรค ระมัดระวังการไปซื้อหัวอาหาร เช่น รำ และปลายข้าว จากโรงสีที่ทำธุรกิจเลี้ยงหมูในกรณีที่ฟาร์มและโรงสีอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะหัวอาหารเหล่านั้นอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ หรืออาจติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอื่นที่เข้าไปรับซื้อหัวอาหารจากแหล่งเดียวกัน แจ้งปศุสัตว์ทันทีหากมีหมูตายเฉียบพลันหรือป่วยด้วยอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง และห้ามขายหมูป่วยและตายออกออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาดหากยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันโรค ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมู ควรให้ความช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในการป้องกันโรคและควบคุมเพื่อลดการแพร่กระจายโรคในพื้นที่ต่างๆ  ได้ดังนี้ ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูทุกรายที่มีหมูแสดงอาการที่ต้องสังสัยว่าติดโรค เช่นมีอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง หรือมีหมูตายฉัยบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ และตรวจสอบยืนยันพบว่าหมูติดโรค ต้องไม่ขายหมูออกจากฟาร์มเพื่อไปชำแหละโดยเด็ดขาด เพราะหมูที่ใกล้ชิดกับหมูป่วยอาจติดโรคไปแล้ว การขายหมูออกไปก็เท่ากับการแพร่เชื้อโรคไปตามที่ต่างๆ ผ่านทางเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู ท้ายสุดฟาร์มหมูอื่นๆ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อย หากเทียบโรคโควิด-19 การขายหมูที่ต้องสงสัยว่าติดโรคออกไป ก็คล้ายกับการปล่อยคนป่วยด้วยโควิด-19 ที่อาจแสดงอาการไม่รุนแรงแต่แพร่เชื้อได้ออกไปปะปนกับคนในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ปศุสัตว์จังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่ ควรติดตามให้ให้ผู้เลี้ยงรายย่อยจนทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ในระบบ E-Smart Plus ให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและการให้ข้อมูลเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการติดตามการแพร่ระบาดของโรค นอกจากกนี้ต้องจดทะเบียนผู้ขนส่งสุกรทุกรายร่วมด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายโรค และควรให้ข้อมูลการป้องกันและควบคุมโรคกับบุคลากรผู้ขนส่งหมูเหล่านี้ เช่นกัน ปศุสัตว์ในแต่ละเขตพื้นที่จะมีโปรแกรมสุ่มตรวจโรค ในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้ง โรงชำแหละหมู จุดจำหน่ายเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอและควรแจ้งผลการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค โดยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็ควรให้ความร่วมมือ เพื่อให้ฟาร์มทั่วไปตระหนักว่าหากมีเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่แล้วต้องระวังให้มากขึ้น หากผู้เลี้ยงรายใดทราบว่าถ้าตนไปสัมผัสกับแหล่งที่ให้ผลบวก ก็ต้องเฝ้าระวังก่อนกลับเข้าฟาร์ม ผู้ขายอาหารให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือโรงงานอาหารสัตว์ควรหามาตรการส่งอาหารให้เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตฟาร์ม เพราะการที่ผู้ขนส่งอาหารไปส่งอาหารในหลายๆ ฟาร์ม อาจพลาดขับรถเข้าไปในฟาร์มที่เป็นโรคโดยไม่ทราบ ดังนั้นหากปล่อยให้เขาเหล่านี้ ขับรถเข้ามาในพื้นที่ฟาร์มโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม รถคันนั้นอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่สู่ฟาร์มได้ ดังนั้นการลงอาหารให้นอกพื้นที่ฟาร์ม ก็จะเป็นการลดการสัมผัสเชื้อโรคอีกช่องทางหนึ่ง ผู้รับซื้อหมูจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องนำรถขนส่งไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดที่ปศุสัตว์หรือสมาคมผู้เลี้ยงหมูกำหนดไว้ให้ และรับบัตรยืนยันการล้างฆ่าเชื้อก่อนนำรถไปรับซื้อหมูที่ฟาร์มต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อโรคให้ผู้เลี้ยงรายย่อย และผู้เลี้ยงหมูก็ไม่ควรไปสัมผัสรถคันนี้ อาจทำทางเดินหมูเพื่อต้อนหมูให้ห่างออกมาจากเล้า แล้วให้คนมารับซื้อจับหมูไปแบบเจ้าของเล้าไม่สัมผัสกับคนมารับซื้อหมูและรถขนส่งหมู และทุกครั้งที่ผู้เลี้ยงหมูคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ให้อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนเข้าเล้าไปเลี้ยงหมูในเล้าเสมอ ซึ่งปกติดขั้นตอนนี้จะปฏิบัติกันอย่างจริงจังในฟาร์มขนาดใหญ่ แม้กระทั้งการสร้างเล้าขายกลาง เพื่อป้องกันรถขนส่งจากภายนอกที่มีความเสี่ยงเข้าไปถึงฟาร์ม และที่สำคัญคนที่ทำงานในฟาร์มก็ไม่มีโอกาสมาสัมผัสรถที่มีความเสี่ยงจากภายนอก โดยจะนำรถที่สะอาดผ่านการพ่นยาฆ่าเชื้อขนส่งหมูมาที่เล้าขายกลาง และส่งหมูในจุดที่แยกกับที่รถภายนอกที่มารับซื้อหมู ผู้ขายพันธุ์สัตว์ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยต้องมั่นใจว่าฟาร์มตนเองปลอดจากโรค โดยการสุ่มตรวจสุขภาพหมูในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ช่วงใดที่พบว่าฟาร์มตนเองมีหมูตายผิดปกติ ก็ควรหยุดการขายหมูพันธุ์ชั่วคราวและตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดจากโรค เพระต้องระลึกเสมอว่าผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะไม่มีเล้ารับสุกรทดแทนที่ฟาร์มใหญ่ๆ มักจะมีกันที่เรียกกว่าเล้ากักโรค เพื่อใช้ตรวจสอบก่อนว่าหมูที่รับมาปลอดโรคก่อนนำเข้าไปรวมฝูง ส่วนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมักไม่มีเล้ากักโรค ดังนั้การทดแทนหมูทุกครั้งก็จะมีความเสี่ยงที่อาจรับโรคใหม่ ๆ เข้าฝูง ดังนั้นผู้ขายหมูพันธุ์ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจึงต้องให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้ ผู้ให้บริการรถขนส่งหมูไปยังต่างพื้นที่ หรือขนส่งหมูเพื่อการส่งออก หลังการขนส่งควรนำรถไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดบริการของปศุสัตว์ในแต่ละพื้นที่ หรือที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงหมูหรือฟาร์มหมูจัดไว้ให้ โดยควรมีใบรับรองการล้างฆ่าเชื้อรถขนส่งก่อนไปรับหมูเที่ยวต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวพาเชื้อโรคไปตามฟาร์มต่างๆ ฟาร์มหรือผู้ประกอบการที่ต้องส่งหมูทุกชนิดออกไปในทุกเขตพื้นที่ควรทำตามมาตรการการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ฟาร์มต้นทางมีหมูตายผิดสังเกตในช่วง 15 วันก่อนส่งก็ควรระงับการส่งออกหมูชั่วคราวเพื่อการตรวจสอบว่าฟาร์มปลอดจากโรค ควบคู่กับฟาร์มปลายทางก็ควรต้องมีเล้ากักโรคและตรวจสอบอีกครั้ง ผู้ประกอบการโรงชำแหละ ต้องจัดจุดล้างและพ้นยาฆ่าเชื้อไว้บริการสำหรับรถขนส่งหมูทุกคันที่ขนส่งหมูเข้ามาและออกจากโรงชำแหละ เพราะจุดนี้จะมีหมูจากหลายแหล่งมารวมกัน ถ้ามีหมูแหล่งใดป่วย เชื้อโรคอาจปนเปื้อนไปกับรถขนส่งที่จะไปรับหมูเที่ยวต่อไป และแพร่เชื้อสู่ฟาร์มหมูได้ ดังนั้นหลังการลงหมูทุกครั้ง รถที่จะออกจากโรงชำแหละจะต้องผ่านการล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อให้มั่นใจว่ารถคันนี้จะปลอดเชื้อโรคก่อนขนส่งสุกรเที่ยวต่อไป ผู้ประกอบการฟาร์มหมูที่มีเล้าหมูมากกว่า 2 ขึ้นไป มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับซื้อหมูจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโรค นอกจากนั้น หลังรับหมูขุนเข้าเลี้ยงภายใน 15 วันแรก ควรแยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด เปรียบเสมือนเป็นการกักโรคเช่นเดียวกับกรณีสงสัยว่าคนในครอบครัวติดโควิด-19 ที่ต้องอยู่แยกห้องกัน โดยกรณี ASF ควรกักโรคแบบแยกเป็นระยะอย่างน้อย 15 วันตามระยะฝักโรค ซึ่งหากในช่วงเวลานี้มีหมูแสดงอาการตายเฉียบพลัน ซึ่งมักเป็นอาการเริ่มต้นของโรค จะต้องตรวจสอบยืนยันโรคเสมอ เพราะว่าหากพบโรคได้เร็วและยังใช้มาตรการกักโรคอยู่ หมูกลุ่มอื่นๆ ในฟาร์มอาจยังไม่ติดเชื้อ ซึ่งในทางวิชาการก็มีวิธีการตรวจสอบยืนยันการปลอดโรคได้เช่นกัน กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงหมูและผู้ประกอบการเลี้ยงหมู ควรทำแผนฉุกเฉินร่วมกันกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้างในผู้เลี้ยงรายย่อย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอัตรากำลังคน กำลังทรัพย์ และกำลังใจ เพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค จากมาตรการที่กล่าวมา หากได้นำไปปฏิบัติหรือดัดแปลงไปใช้ให้ตรงบริบทกับหน้างาน คงพอจะช่วยป้องกันและควบคุมโรค ได้ในระดับหนึ่ง อย่างที่ได้เรียนในบทความก่อนขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านตระหนักแต่อย่าถึงขนาดตระหนกจนทำให้ธุรกิจหมูในภาพรวมเดินต่อไปไม่ได้  ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะทำให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด” น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)   อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค Read More »

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค   ยังคงเป็นประเด็นร้อนในทุกประเทศของเอเชีย เกี่ยวกับโรค ASF บทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงการป้องกันโรคเพราะเชื่อมั่นว่ากลุ่มฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ส่วนมากก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันฟาร์มของตนเองจากโรคนี้ได้ ด้วยการใช้หลักการการป้องกันโรคทั่วไปของฟาร์ม จึงทำให้ฟาร์มมักรอดพ้นจากโรค ส่วนฟาร์มที่มักติดโรค ก่อนเสมอในแต่ละเขตพื้นที่ มักเป็นฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นฟาร์มที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดีและเพียงพอที่จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายรายที่อยากจะปรับปรุงพัฒนาระบบป้องกันโรคให้ได้เหมือนฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ก็ขาดเงินลงทุน ทำให้ขาดความพร้อมด้านโครงสร้างฟาร์มที่จะช่วยในการป้องกันโรค อย่างเช่น การก่อสร้างรั้วให้ได้มาตรฐานที่สามารถป้องกันสัตว์พาหะ หรือการทำโรงเรือนให้เป็นระบบปิดปรับอากาศหรือที่เรียกว่าอีแว็ป หรือมีมุ้งป้องกันแมลงวันที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากฟาร์มหมูที่ป่วย หรือการสร้างเล้าขายหมูที่แยกออกมาจากฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปรับซื้อหมูถึงหน้าเล้าและสัมผัสกับตัวหมูในฟาร์มโดยตรง หรือการไม่มีเงินที่จะขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อให้หมูบริโภค เลยต้องใช้น้ำผิวเดินที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากการที่มีผู้นำเอาหมูป่วยตายมาทิ้งลงแหล่งน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ จากปัญหาด้านงบลงทุนของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จึงมักพบความเสี่ยงต่อการนำโรคเข้าฟาร์มคือ แหล่งวัตถุดิบของอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรและแหล่งรับการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์เร่ผสม กรณีความเสี่ยงจากวัตถุดิบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง หรือการใช้แหล่งอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ต้องไปซื้อหัวอาหารจากโรงสีที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่ที่เดียวกัน หรือไปซื้ออาหารจากร้านขายอาหารที่ทำธุรกิจชำแหละหมูร่วมด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีความเสี่ยงจากแหล่งพ่อพันธุ์ที่นำมาใช้ผสมพันธุ์ในฟาร์ม เกิดจากผู้เลี้ยงรายย่อยไม่มีเงินทุนพอที่จะเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้ใช้เองในฟาร์ม เลยต้องรับบริการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์รถเร่ที่รับผสมพันธุ์ร่วมกกันจากหลายฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดโรคในสุกรของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และที่สำคัญการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารโรคระบาดของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย อาจเข้าถึงได้น้อยกว่าผู้เลี้ยงรายกลางและใหญ่ ทำให้ไม่มีการเฝ้าระวังโรคจากฟาร์มข้างเคียงได้รวดเร็วพอ กว่าจะรู้ว่ามีหมูป่วยในพื้นที่ก็ปรากฏว่า โรคได้แพร่เข้าสู่ฟาร์มแล้ว ดังจากข่าวที่เราพบในต่างประเทศ เมื่อพบการเกิดโรคขึ้นจุดหนึ่ง พอตรวจประเมินฟาร์มที่อยู่ข้างเคียงก็มักจะพบหมูติดเชื้อไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบว่า ฟาร์มที่รับซื้อหมูไปเลี้ยงเกิดโรคขึ้นมา เมื่อตรวจสอบที่ฟาร์มต้นทางก็ปรากฏว่า มีการติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจประเมินเพื่อเฝ้าระวังโรคทั้งฟาร์มต้นทางและปลายทางจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อขายและเคลื่อนย้ายหมูในเขตพื้นที่เสี่ยง โรค ASF จะแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้จะต้องมีพาหะพาไป เชื้อโรคมักแพร่ไปกับตัวหมูจากการขนส่งหมูมีชีวิตที่สุขภาพยังปกติจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง  หรือเชื้อโรคแพร่ไปกับเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในตลาดที่เกิดจากการขายหมูที่ติดเชื้อโรคแล้วขายเข้าโรงชำแหละ หรือ เชื้อโรคติดมากับรถรับซื้อหมูที่อาจผ่านการขนส่งหมูป่วยโดยที่ไม่ทราบ หรือเชื้อโรคติดมากับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาด เป็นต้น จากรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศพบว่าในพื้นที่มักพบโรคระบาดเกิดขึ้นก่อน คือในผู้เลี้ยงหมูรายย่อย โดยความผิดพลาดที่พบคือการไม่ทราบว่าหมูเป็นโรคอะไรทำให้การทำลายหมูป่วยที่ติดโรคช้า เชื้อโรคจึงแพร่เชื้อไปในสิ่งแวดล้อม หรือการลักลอบเทขายหมูที่มีความเสี่ยงติดโรคโดยไม่รอการตรวจสอบยืนยัน การกระทำนี้จะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่ไปกับตัวหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ที่สามารถแพร่ไปได้ไกลจนกว่าจะมีใครมาสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วนำกลับเข้าฟาร์ม หรือฟาร์มบางรายอาจฝังทำลายหมูป่วยแบบไม่ถูกต้อง บ่อที่ฝังหมูอาจระเบิดจากแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักตามธรรมชาติ หรือมีน้ำหลืองหมูเยิ้มออกมาจากปากหลุมที่ปิดไม่สนิทหรือไม่หนาเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งล่อให้แมลงวันมาสัมผัส ฟักไข่ เกิดลูกหลานแมลงวันที่สามารถแพร่เชื้อโรคต่อไปได้ในฟาร์มบริเวณใกล้เคียง หรือการทิ้งซากหมูป่วยตายลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคแพร่ไปได้ไกลตามที่น้ำไหลไปถึงได้เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี ควรเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการฟาร์มหมูทั้งรายกลางและรายใหญ่ และฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และควรดำเนินการเป็นพื้นที่เช่น จังหวัด หรือเขตปศุสัตว์ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจการแพร่โรค และเข้าใจการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง การแพร่กระจายของโรคก็จะลดลงและสามารถควบคุมโรคได้ในที่สุด แต่หากมีเพียงฟาร์มหมูรายใดรายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ความเสี่ยงจากการแพร่โรคในพื้นที่นั้นย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน และหากไม่สามารถหยุดยั้งโรคได้ การแพร่ระบาดโรคในวงกว้างก็อาจเกิดขึ้น ผลเสียก็ตกไปที่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลักการควบคุมโรค ASF นั้นอาศัยหลักการที่ว่า “รู้เร็ว จัดการเร็ว จบเร็ว”  ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่เข้าใจลักษณะของโรคอย่างลึกซึ้ง อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการควบคุมโรค อย่างเช่น คำว่า “รู้เร็ว” หรือ Early Detection ถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการควบคุมโรคเลยก็ว่าได้ โดยทางทฤษฏี คือการที่ทราบได้อย่างรวดเร็วว่าหมูในฟาร์มตัวแรกติดโรคแล้ว ถึงตรงนี้ก็จะต้องย้อนคิดด้วยว่าโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5-15 วัน  ดังนั้นการตรวจพบหมูป่วยตัวแรก ก็แสดงว่าการติดเชื้อของฟาร์มนี้อาจเกิดขึ้นมาในช่วง 15 วันก่อนหน้านั้นแล้ว และโดยปกติหมูที่เริ่มป่วยมักมีอาการไม่ชัดเจน หากเราไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจหรือใช้เวลาตรวจสอบยืนยันนาน ก็จะส่งผลเสียเพราะโรคในฟาร์มอาจลุกลามจนยากจะแก้ไข ดังนั้นการตรวจสอบว่าหมูในฟาร์มป่วยให้ได้เร็วที่สุดจึงมีความจำเป็น และปกติการตรวจหมูที่สุขภาพดี มักจะไม่พบการติดเชื้อซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเพื่อให้ทราบการติดเชื้อได้เร็ว ฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงการระบาด อาจต้องสุ่มตรวจหมูทุกตัวที่ตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ  เพราะวิธีการนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะสามารถตรวจพบโรคได้เร็วกว่าการตรวจหมูที่สุขภาพดี และนอกเหนือจากการตรวจสอบโรคใด้เร็วแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาคือ “การสืบสวนโรค” หรือการสืบค้นหาหมูกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อเพราะมีความเชื่อมโยงกับหมูที่ป่วยเป็นโรค กรณีนี้จะใกล้เคียงกันกับโรคโควิด – 19 ในคน คือการสืบหาผู้สัมผัสเชื้อและมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ซึ่งจะต้องสืบหากลุ่มเสี่ยงให้ครบถ้วน เพื่อการตรวจสอบและแก้ไข ก่อนที่กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะแพร่เชื้อต่อไป สำหรับหมูที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ก็คือหมูที่มีโอกาสสัมผัสกับหมูที่ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น คนเลี้ยงเดียวกัน  ใช้อุปกรณ์ฉีดยาและวัคซีนร่วมกัน ใช้น้ำเชื้อจากแหล่งเดียวกัน ขนส่งด้วยรถขนเส่งเดียวกัน มีบุคคลจากภายนอกเข้ามาในโรงเรือนเป็นคนเดียวกัน เป็นต้น โดยหมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคเหล่านี้ จะต้องถูกตรวจสอบการติดเชื้อภายในระยะเวลามากกว่า 15 วัน นับจากวันที่คาดว่าหมูกลุ่มนี้ไปสัมผัสเชื้อโรค ด้วยความเสี่ยงที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเคลื่อนย้ายหมูออกจากพื้นที่ระบาดของโรคโดยไม่รอการตรวจสอบตามระยะเวลาที่ถูกต้อง จะเป็นความเสี่ยงสำคัญยิ่งยวดของการแพร่กระจายโรค ซึ่งกรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับโรคโควิด-19 คือผู้มีความเสี่ยงต่อการติดโรคต้องถูกกักโรคอย่างน้อย 14 วัน ตามระยะเวลาฟักโรค ดังนั้นสำหรับโรค ASF หมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดโรคนี้ควรกักไว้ในพื้นที่ที่แยกจากหมูกลุ่มอื่นๆ หรือที่เรียกว่าเล้ากักโรค และต้องตรวจสอบยืนยันโรคอีกครั้งเมื่อผ่านพ้นระยะกักโรคคือมากกว่า 15 วันขึ้นไป  และถ้าจะให้มั่นใจก็ควรรอตรวจสอบจนถึง 30 วัน หรือประมาณ 2 รอบของระยะฟักตัวของโรค จากมูลเหตุของปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวมา เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การระบาดของโรคขึ้นกับความพร้อมด้านการป้องกันโรคเป็นหลัก โดยฟาร์มในประเทศไทย มีทั้งฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการป้องกันโรคได้ดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง กับฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่ไม่มีความพร้อมในการป้องกันโรคกระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคดังกล่าวในแต่ละพื้นที่ คงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีศักยภาพในการป้องกันโรค ให้ช่วยเหลือฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่ของตัวเองด้วย เพราะหากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในเขตพื้นที่ตนเองป่วยเป็นโรคในปริมาณมากๆ ฟาร์มหมูรายกลางและรายใหญ่ก็จะมีความเสี่ยงที่อาจจะติดโรคนี้ไปด้วย  เพราะโรคนี้จะแตกต่างจากโรคหมูชนิดอื่น ที่ทุกคนไม่อาจปปฏิเสธได้ คือ “เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ไม่มีวัคซีนป้องกัน” ดังนั้น การป้องกันโรคและควบคุมโรคจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมในระดับฟาร์มเท่านั้น การป้องกันและควบคุมโรคระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต้องทำให้ครบรอบด้านทั้งหมด ถึงจะสามารถรับมือโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะขอให้ข้อมูลรายละเอียดอีกครั้งในบทความตอนต่อไป   ก่อนจบในตอนแรกนี้ขอฝากถึงผู้เลี้ยงหมูทุกท่านอีกครั้งว่า โรค ASF เป็นโรคที่น่ากลัวก็จริงแต่ก็ยังมีแนวทางที่จะป้องกันและควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่ควรให้ความตระหนักมิใช่ตระหนกจนกลัวไปเสียทุกสิ่ง เชื้อโรคจะแพร่ไปได้ก็ต่อเมื่อมีพาหะพาไปเท่านั้น และเมื่อมีโรคเกิดขึ้น ณ ฟาร์มหนึ่งๆ แล้วนั้น หมูกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงก็คือ หมูที่มีโอกาศสัมผัสกับหมูป่วยโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยหมูที่มีความเสี่ยงสูงคือหมูที่สัมผัสใกล้ชิดกับหมูป่วยโดยตรง เช่นอยู่ในคอกหรือเล้าเดียวกัน ส่วนหมูที่อยู่อยู่ต่างเล้าความเสี่ยงก็จะลดลง หากไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกัน เช่นไม่ใช้อุปกรณ์ฉีดวัคซีนร่วมกัน คนเลี้ยงร่วมกัน หรือมีสัตว์พาหะแพร่เชื้อเช่นแมลงวัน หนู เป็นต้น ส่วนฟาร์มที่อยู่ห่างออกไป และไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงถึงกันเลย ความเสี่ยงก็จะน้อยลงไปตามลำดับความเชื่อมโยงที่มี ดังนั้นการเกิดโรคในฟาร์มแห่งหนึ่ง ในอำเภอหรือจังหวัดหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าหมูทุกตัวในจังหวัดนั้นมีความเสี่ยง เพราะหมูที่มีความเสี่ยงสูงอาจเป็นหมูอีกจังหวัดหนึ่งก็อาจเป็นได้หากสืบสวนแล้วพบว่ารับหมูทดแทนจากฟาร์มที่ป่วยนี้ไป ดังนั้นขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นในมาตรการป้องกันโรคของตนต่อไป และตรวจสอบทุกครั้งหากสังสัยว่าฟาร์มตนเองอาจมีความเชื่อมโยงกับแหล่งหมูป่วย แล้วพบกันใหม่ในบทความตอนต่อไป ว่าควรต้องทำอย่างไรให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด” CR. น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)   อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค Read More »

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)