รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน
รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน กลับมาเจอกันอีกครั้งกับรวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 ตอนนี้ถือว่าเป็นตอนพิเศษที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยบทความที่ผ่านมาจะกล่าวถึงการป้องกันและควบคุมโรคเป็นส่วนใหญ่ แต่บทความนี้จะเล่าประสบการณ์ของฟาร์มเกษตรกรรายย่อยในประเทศหนึ่ง ขนาด 164 แม่ และ 300 แม่ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เป็นปกติมาถึง 60 วันและมากกว่า 1 ปีตามลำดับ ในขณะที่ฟาร์มรอบข้างในรัศมีไม่เกิน 170 ถึง 650 เมตร หมูทั้งหมดถูกทำลายไปมากกว่า 3,000 ตัว ตามมาตรการลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ซึ่งฟาร์มทั้งสองแห่งนี้ใช้ระบบการเลี้ยงแบบโรงเรือนปิดหรือที่เรียกว่าโรงเรือนอีแว๊ป และนั้นดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในคนในปัจจุบันเพราะเปรียบเสมือนมีโควิด 19 เกิดขึ้นที่ปากซอยหน้าบ้านเลยที่เดียว เรามาติดตามกันดูนะว่าเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นรอดพ้นภัยร้ายครั้งนี้มาได้อย่างไร เริ่มต้นจากทีมสัตวแพทย์และผู้ดูแลโครงการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู แจ้งสถานการณ์ความเสี่ยงให้เกษตรกรทราบ เพื่อขอความร่วมมือกับเกษตรกรให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด และมีทีมงานตรวจติดตามการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด โดยไม่เข้าไปในเขตฟาร์มของเกษตรกร ความร่วมมือแรกที่ขอจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคือ การให้คนงานในฟาร์มพักในที่พักของฟาร์มเท่านั้นยกเว้นกรณีจำเป็นต้องออกไปภายนอกก็จะต้องแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้หามาตรการป้องกันการนำเชื้อโรคกลับเข้ามาในฟาร์ม โดยพนักงานเลี้ยงหมูทุกคนก่อนเข้าปฏิบัติงานในเล้าหมู ต้องถอดรองเท้าและเสื้อผ้าที่ใช้ภายนอกฟาร์มออก แล้วอาบน้ำและเปลี่ยนชุดก่อนเสมอ และใช้รองเท้าบู้ทเฉพาะที่ใช้ในฟาร์มเท่านั้นโดยก่อนเข้าฟาร์มต้องจุ่มรองเท้าบู้ทในน้ำย่าเชื้อ 2 ครั้ง ที่หน้าห้องอาบน้ำและครั้งที่ 2 ที่ประตูเล้าก่อนเข้าเล้าหมู เกษตรกรเจ้าของฟาร์มจะเป็นผู้ออกไปภายนอกเพื่อซื้อของกินของใช้มาให้พนักงานในฟาร์มและอนุญาตให้ซื้อของเฉพาะของจากร้านค้าที่สะอาด ถูกหลักอนามัย เท่านั้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นที่เสี่ยง และห้ามซื้อเนื้อสัตว์กีบ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เข้ามาประกอบอาหารในฟาร์ม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้องด้วย และเพื่อป้องกันคนภายนอกเข้ามาในเขตฟาร์ม ทางฟาร์มจะต้องปิดล๊อคประตูรั้วฟาร์มอยู่ตลอดเวลา และทำการแบ่งเขตพื้นที่เลี้ยงหมูและที่พักอาศัยของคนงานออกจากกันให้ชัดเจน โดยทำแนวเขตด้วยรั้วสำรอง โดยใช้ห้องอาบน้ำก่อนเข้าเล้าหมูเป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่ภายนอกและภายในฟาร์มที่เป็นเขตเลี้ยงหมู การส่งอาหารถุงมาใช้ที่ฟาร์มจะกำหนดให้มาส่งเพียงเดือนละครั้ง โดยกำหนดจุดโกดังวางอาหารให้ไว้ให้อย่างชัดเจน โดยก่อนรถขนส่งอาหารถุงมาถึง พนักงานในเล้าหมูจะต้องมาขนอาหารชุดเดิมเข้าไปไว้ในเล้าหมูก่อนอาหารชุดใหม่จะมาลงที่โกดัง เพื่อป้องกันการสัมผัสกันของพนักงานในเล้าหมูกับพนักงานขนส่งอาหาร และเมื่ออาหารชุดใหม่ถูกส่งมาถึงจะต้องวางพักไว้ 24 ชั่วโมงก่อนอนุญาตให้พนักงานเล้าหมูมานำไปใช้เลี้ยงหมู และจะกำหนดเส้นทางการขนส่งสำหรับรถทุกคันที่จำเป็นจะเข้ามาที่ฟาร์ม เช่น รถอาหารสัตว์ รถรับลูกหมูหย่านม จะต้องไม่ผ่านพื้นที่หรือเส้นทางที่เสี่ยงต่อโรค เช่น เส้นทางที่มีเล้าหมูที่เป็นโรคหรือเป็นเส้นทางที่เป็นจุดฝังทำลายหมูติดเชื้อ เป็นต้น และเมื่อรถทุกชนิดมาถึงที่ฟาร์มก็จะถูกพ่นยาฆ่าเชื้อที่ประตูฟาร์มก่อนเข้าไปในเขตฟาร์มเสมอ และรถที่ไม่จำเป็นจะกำหนดให้จอดด้านนอกประตู ไม่อนุญาตให้ขับเข้าไปจอดในเขตฟาร์ม และการหย่านมลูกหมูจากเล้านี้จะทำเพียงเดือนละครั้ง เพราะทำระบบการผสมแบบเป็นชุด หรือที่เรียกว่าระบบ Batch มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยลูกหมูจะถูกหย่านมเพื่อลงเลี้ยงในพื้นที่ที่เป็นเขตเดียวกัน และจะมีโปรแกรมตรวจสอบภาวะปลอดโรคที่ฟาร์มปลายทางช่วง 7 และ 45 วันหลังรับเข้า โดยสุ่มเก็บเลือดหมูและน้ำลาย หรือการสวอปพื้นคอก โดยระหว่างที่รอเก็บตัวอย่างส่งตรวจตามโปรแกรม คนงานจะต้องคอยตรวจสอบสุขภาพสุกรตลอดเวลา หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไม่กินอาหาร นอนซึม ให้แจ้งหัวหน้าผู้ที่รับผิดชอบดูแลทันที เพื่อเก็บตัวอย่างประเมินสภาวะการติดเชื้อโดยเร็ว และในช่วงที่พื้นที่นั้นยังมีข่าวการระบาดของโรคอยู่ในช่วง 30 วันแรก ก็จะหยุดผสมพันธุ์แม่หมู เมื่อผ่านช่วงที่มีความเสี่ยงและปรับปรุงระบบป้องกันโรคของฟาร์มจนมีความพร้อมที่สุดแล้ว ถึงจะเริ่มกลับมาผสมพันธุ์ตามปกติ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ฟาร์มเกษตรกรหยุดการขายแม่หมูคัดทิ้ง และหยุดการทดแทนหมูพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าฟาร์ม จนกว่าจะไม่มีรายงานการเกิดโรคในพื้นที่เป็นเวลา 60 วัน นอกจากนี้ยังต้องลดการสัมผัสกับบุคคลภายนอกโดยหยุดขายมูลสุกรออกจากฟาร์ม ในส่วนของการป้องกันสัตว์พาหะก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะแมลงวันที่มีรายงานยืนยันชัดเจนว่าสามารถแพร่เชื้อโรค ASF ได้ จากการที่ได้สุ่มจับแมลงวันในพื้นที่เสี่ยงโรคมาตรวจ ดังนั้นเพื่อควบคุมแมลงวัน เกษตรกรจึงต้องปิดโรคเรือนให้มิดชิด และมีมุ้งเขียวป้องกันเพิ่มเติมส่วนที่เป็นเยื่อกระดาษหน้าเล้าหมู และประตูทางเข้า นอกจากนั้นยังต้องวางกาวดักจับแมลงวันรอบ ๆ เล้าหมูเพื่อป้องกันแมลงไม่ให้เข้าไปในโรงเรือน นอกจากนี้ทางฟาร์มยังได้ป้องกันสัตว์พาหะอื่นๆ ร่วมด้วย โดยการวางยาพิษเบื่อหนู และกาวดักหนู รอบ ๆ เล้าหมู และปรับปรุงรั้วฟาร์มให้สามารถป้องกัน หมา และแมวได้ ในประเด็นเรื่องน้ำ เป็นความโชคดีที่ทางฟาร์มใช้น้ำบาดาลสำหรับการเลี้ยงหมูอยู่แล้วจึงลดความเสี่ยงการติดเชื้อผ่านทางน้ำ สำหรับฟาร์มที่ยังใช้น้ำผิวดินอยู่ควรเตรียมมาตรการหากโรคเข้ามาใกล้พื้นที่ ควรงดใช้น้ำผิวดินเพื่อการเลี้ยงหมูโดยเด็ดขาด และที่สำคัญทางฟาร์มได้จัดทำบ่อทิ้งซากไว้ในฟาร์มอยู่แล้ว โดยจะไม่นำหมูตายออกออกนอกพื้นที่ฟาร์มหมูโดยเด็ดขาด นอกจากนั้นเพื่อติดตามการปฏิบัติว่าเป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้หรือไม่ ทางผู้ดูแลโครงการได้ติดตั้ง CCTV ไว้ 3 จุด บริเวณหน้าฟาร์ม ด้านหน้าห้องอาบน้ำ และภายในเล้าหมู เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังด้านการป้องกันโรคตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อความสะดวกในการติดตามสุขภาพหมูภายในโรงเรือนโดยสัตวแพทย์และสัตวบาล โดยไม่ต้องเข้าไปในโรงเรือนเพื่อป้องกันโรคการนำเชื้อโรคเข้าไปในฟาร์มหมู และป้องกันไม่ให้โรคปนเปื้อนไปกับผู้ปฏิบัติงานไปยังฟาร์มหมูอื่น ๆ ในส่วนการประเมินติดตามซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลได้กำหนดมาตรการให้ใหม่ทันทีเป็นกรณีพิเศษ เริ่มจากโปรแกรมตรวจหาโรค โดยหากพบหมูในเล้ามีอาหารผิดปกติ จะเก็บตัวอย่างเลือดหรือน้ำลายหมูเหล่านั้นเพื่อตรวจสอบโรคทันที โดยสัตวแพทย์หรือสัตวบาลที่รับผิดชอบ จากจากนี้ยังมีโปรแกรมตรวจประเมินติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการเก็บตัวอย่างง่ายๆที่ทำได้โดยเกษตรกรหรือคนเลี้ยงประจำเล้า โดยการสวอปน้ำลายโดยใช้ผ้าก๊อซป้ายน้ำลายแม่สุกร 5 ตัว และป้ายพื้นเล้าคลอด 5 คอก ทุกสัปดาห์ในช่วงเดือนที่แรกที่มีข่าวโรคระบาดรอบ ๆ ฟาร์ม และหลังจากนั้น เดือนที่สอง จะเก็บตัวอย่างแบบเดิมทุก 2 สัปดาห์ และในเดือนต่อมาจะเก็บตัวอย่างติดตามทุกเดือน หากไม่พบอาการผิดปกติสัตวแพทย์หรือสัตวบาลไม่ควรเข้าไปเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง เพราะอาจจะนำโรคเข้าฟาร์มหรือนำโรคจากฟาร์มที่เสี่ยงสูงแพร่ไปยังจุดอื่นได้ และก่อนหย่านมลูกสุกรก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจสอบ โดยเก็บตัวอย่างเลือดแม่สุกรเล้าคลอดจำนวน 15 ตัวอย่าง และสวอบเล้าคลอด 3 ตัวอย่าง โดยที่ผ่านมาทุกตัวอย่างให้ผลลบต่อการตรวจ และหมูในฟาร์มก็ยังมีสุขภาพที่ดีและปลอดจากโรค จนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 2 เดือน จากสถานการณ์ที่กล่าวมานี้ เป็นมาตรการการป้องกันโรคที่ได้ปฏิบัติจริง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ฟาร์มหมูที่ปฏิบัติอย่างจริงจังก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติโรคร้ายแรงนี้มาได้ และฟาร์มที่กล่าวมานี้ก็เป็นเกษตรกรผู้เลียงหมู ถ้าสังเกตมาตรการที่กำหนดให้จะเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงโดยทั่วไปทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้มีมาตรการอะไรแปลกใหม่เลย จุดสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติอย่างจริงจังตามมาตรการเท่านั้นเอง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงหมูแบบเล้าเปิด มาตรการข้างต้นอาจจะปฏิบัติไม่ได้ครบทุกข้อ โดยเฉพาะเรื่องสัตว์พาหะ แต่ก็ไม่แน่ว่า หากปฏิบัติข้ออื่น ๆ ให้ได้เต็มที่ ก็อาจจะรอดจากการติดโรคได้เหมือนกัน หรืออย่างน้อยก็อาจจะยืดระยะเวลาให้ได้นานเพียงพอที่จะขายหมูที่ยังปกติออกให้หมดก่อนที่โรคจะมาถึง ดังมาตรการที่ได้กล่าวไว้เมื่อตอนที่ 3 ที่ผ่านมา ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นตัวอย่างหรือแนวทางหนึ่งที่อาจจะนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ตามหน้างานของแต่ละฟาร์มได้ หวังว่าผู้เลี้ยงหมูทุกท่านคงพอได้แนวทางเพื่อนำไปป้องกันฟาร์มของท่านให้รอดพ้นจากภัยร้ายในครั้งนี้ น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพีเอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน) อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี
รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 4 : จะทำอย่างไรเมื่อโรคมาเคาะประตูบ้าน Read More »