Logo-CPF-small-65png

ข่าวสารทั่วไป

เปิดความจริง!! วงในคนเลี้ยงหมู

กระแสของราคาหมูแพงจากโรคระบาดสัตว์ที่หลายฝ่ายมองว่า เกิดจากการปิดข่าวของภาครัฐซึ่งเพิกเฉยและไม่ยอมรับว่ามันคือ ASF หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จนทำให้บานปลายกระทบปริมาณซัพพลายหมูในประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะหมูไม่พอต่อความต้องการและมีราคาสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน ความเสียหายดังกล่าว ทำให้ไทยต้องสูญเสียเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไปแล้วกว่า 50% แม้แต่ฟาร์มรายใหญ่ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เพียงแต่ด้วยระบบป้องกันโรคที่เคร่งครัดเข้มงวด จึงทำให้ยังสามารถรักษาปริมาณหมูของฟาร์มไว้ได้ ต้องเรียกว่าคนในแวดวงหมูเจ็บตัวกันทุกคน อันที่จริงทุกคนในแวดวงผู้เลี้ยง ต่างก็ตระหนักและกังวลถึงโรคดังกล่าวตั้งแต่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน มีการศึกษาหาความรู้และแนวทางป้องกัน ผมได้เห็นคนในวงการนี้ช่วยกันคนละไม้ละมือ ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ สมาคม เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ ต่างร่วมแบ่งปันแนวทางและมาตรการต่างๆ กันอย่างเต็มที่ รายใหญ่หน่อยก็ลงแรงเยอะหน่อย รายกลาง รายเล็กก็ลดหลั่นกันลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ใหญ่ของวงการที่เดินสายยี่สิบจังหวัดทั่วภาคอีสาน ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่เกษตรกรโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นเกษตรกรลูกเล้าของบริษัทอื่นหรือไม่ ที่สำคัญ ผมยังได้เห็นการเสียสละลงขันกันนับร้อยล้าน จากพี่ใหญ่ พี่รอง และฟาร์มแทบทุกฟาร์มในวงการ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพที่เจอโรคระบาดก่อนใคร โดยไม่รอเงินเยียวยาจากภาครัฐ มีแม้กระทั่งเฮียเจ้าของฟาร์มหมูในต่างจังหวัดที่ข้ามแดนไปเยียวยาเกษตรกรในประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อตัดตอนไม่ให้โรคระบาดข้ามแดนมาบ้านเรา ผมจึงไม่สบายใจนักที่คนนอกวงการมองว่ารัฐปิดข่าวเพราะห่วงการส่งออกหมูซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์ และจะทำให้เกิดการเสียกำลังใจกัน ทั้งๆที่การประกาศข่าวหรือปิดข่าวไม่ใช่เรื่องของภาคเอกชนแต่เป็นเรื่องของภาครัฐ 100% ในช่วงเวลาปกติ สินค้าเนื้อหมูเป็นสินค้าที่บริโภคกันในประเทศถึง 99% เนื่องจากไทยยังมีโรคปากเท้าเปื่อยในสุกรทำให้ส่งออกหมูดิบไม่ได้ จะส่งออกได้บ้างก็ต้องทำเป็นอาหารปรุงสุกซึ่งก็แค่ 1% ส่วนในช่วงเวลาที่หมูในประเทศมีราคาตกต่ำและหมูเพื่อนบ้านแพงมาก ก็จะมีโบรคเกอร์มาซื้อหมูมีชีวิตของไทยข้ามไปชายแดน ซึ่งก็เกิดขึ้นแค่ช่วงที่เพื่อนบ้านเจอ ASF และไม่ได้กระทบปริมาณหมูที่กินกันในบ้านเรา ดังนั้น การเข้าใจผิดว่ารัฐปิดข่าวเพื่อเอื้อส่งออกจึงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก ส่วนที่สื่อบางสื่อระบุว่าในปีที่แล้วมีการส่งออกหมูไปเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่า 300% คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาทนั้น เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหมูที่ซื้อขายกันในประเทศ ไม่มีนัยยะที่จะต้องให้ความสำคัญเลย มาตรการรัฐที่ออกมาอ้างว่าห้ามส่งออกจึงเป็นมาตรการที่แทบไม่มีผลอะไร แต่สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายกลาง กลับมาผลิตหมูป้อนคนไทยให้เร็วที่สุด มาตรการสินเชื่อของ ธกส. ที่ออกมา รัฐได้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือไม่ สามารถสนับสนุนให้เขาสร้างฟาร์มไร้ดอกได้หรือเปล่า ทั้งยังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีก มีแนวทางและงบประมาณอย่างไร ทุ่มทุนวิจัยและส่งเสริมอย่างจริงจังขนาดไหน การจำกัดเฉพาะศูนย์วิจัยของรัฐคงไม่พอแต่ต้องเปิดกว้างที่สุด เพราะยังไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่คิดค้นวัคซีนตัวนี้สำเร็จ โปรดอย่าให้เป็นเพียงวาทกรรมเพื่อบรรจุลงในมาตรการเท่านั้น อาชีพใครๆก็รัก ธุรกิจใครๆก็ต้องการรักษา ประเทศใครๆก็ต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้า เมื่อบ้านเกิดไฟไหม้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือดับไฟ ไม่ใช่การหาแพะหรือคนผิด ซึ่งสามารถรอให้ไฟดับแล้วค่อยไปสอบสวนสืบสวนกันต่อได้ ดังนั้น ในฐานะคนแวดวงนี้ จึงอยากขอให้ทุกคนหันมาร่วมกันฟื้นฟู ดีกว่าด่าทอกันซึ่งไม่เกิดประโยชน์ และที่สำคัญ ภาครัฐต้องหาวิธีดับไฟอย่างจริงใจและลงรายละเอียดอย่างระมัดระวัง ที่สำคัญ หวังว่ารัฐจะไม่แก้ปัญหาลวกๆ ด้วยการนำเข้าหมูต่างชาติ ย้อนแย้งกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลับสู่อาชีพ เพราะจะทำให้ไม่มีเกษตรกรกล้าลงหมูเข้าเลี้ยงอีกเนื่องจากรู้ดีว่าหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างชาติได้ อีกประการหนึ่งที่สัตวแพทย์ประสานเสียงเตือนคือความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารตกค้างและเชื้อโรคอื่นๆ ที่จะเข้ามาทำให้การแก้ปัญหาเรื่องโรคไม่รู้จบ การนำเข้าหมูจะกลายเป็นไฟลูกใหม่ที่พร้อมไหม้บ้านเราเองอีกครั้งในอนาคต ไทยมีจุดเด่นเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก มีผู้คนและภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตที่ยาวมาก วิกฤตโรคระบาดหมูครั้งนี้ทำให้เกษตรกรหายไปจำนวนมากแล้ว รัฐต้องเร่งฟื้นฟูพวกเขาให้กลับมา ไม่ใช่ฆ่าตัดตอนคนเลี้ยงหมูที่ยังเหลืออยู่ ให้มันจะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต จนเกษตรกรพืชไร่และทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต รวมถึงผู้บริโภคต้องได้รับผลกระทบกันไปทั้งหมด CR: สยามรัฐ

เปิดความจริง!! วงในคนเลี้ยงหมู Read More »

ซีพีเอฟรับซื้อข้าวเปลือกช่วยเหลือชาวนาหลังราคาข้าวตกต่ำ – ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มเติม

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมีการนำผลผลิตจากข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว เช่น ปลายข้าวและรำข้าว มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องและล่าสุด จากสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ ซีพีเอฟจึงร่วมมือกับคู่ค้าโรงสี ทำการรับซื้อข้าวเปลือก เพื่อช่วยระบายผลผลิตข้าวเปลือกในตลาด และนำข้าวเปลือกที่รับซื้อดังกล่าว มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มเติมจากส่วนผสมเดิม เป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ทั้งในด้านการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาไทยและส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ขณะเดียวกันยังช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่คู่ค้าในสถานการณ์ปัจจุบัน “ซีพีเอฟ ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาไทย และช่วยให้โรงสีมีสภาพคล่องในสถาการณ์อันยากลำบากนี้ โดยดำเนินการรับซื้อข้าวเปลือกมาตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องนโยบายรัฐแล้วยังตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มุ่งก่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนและองค์กร”นายเรวัติกล่าว ทั้งนี้ ซีพีเอฟเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่ผลิตอาหารที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด มุ่งมั่นจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ “สีเขียว” ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และอื่นๆ ที่ต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีการปลูกอย่างยั่งยืน ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า 100% (Zero Deforestation) ควบคู่กับการงดการเผาแปลงเกษตรหลังเก็บเกี่ยวให้เป็นศูนย์ (Zero Burn) “ข้าว” จึงเป็นวัตถุดิบหลักอีกชนิดหนึ่งของการผลิตอาหารสัตว์ และการจัดซื้อข้าวเปลือกในครั้งนี้ถือเป็นการจัดซื้อ “วัตถุดิบสีเขียว” ซึ่งมีแหล่งปลูกอย่างถูกต้อง ควบคู่ความภูมิใจที่ได้ช่วยพยุงราคาข้าวเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

ซีพีเอฟรับซื้อข้าวเปลือกช่วยเหลือชาวนาหลังราคาข้าวตกต่ำ – ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มเติม Read More »

CPF ขับเคลื่อน “สุขภาพหนึ่งเดียว” ผลิตอาหารมั่นคง ปลอดภัย ใส่ใจคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

CPF นำหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ยึดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล ส่งเสริมการผลิตอาหารมั่นคงและปลอดภัย เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนน.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานอาหารสากลและความยั่งยืน ในฐานะประธานคณะกรรมการสวัสดิภาพสัตว์ CPF เปิดเผยว่า ภายใต้หลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ซีพีเอฟ เสริมประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล (Animal Welfare) หรือ หลักอิสระ 5 ประการ มุ่งเน้นให้สัตว์มีสุขภาพดีเป็นหลัก ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ครอบคลุมกิจการทั้งในไทยและกิจการในต่างประเทศ ให้สัตว์ได้รับน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สามารถแสดงพฤติกรรมของสัตว์ได้ตามธรรมชาติ และเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการนอกจากนี้ CPF ยังมีนโยบายบริษัทฯ ด้านการใช้ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) ครอบคลุมยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ด้วยความรับผิดชอบและสมเหตุผล ซึ่งการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (share-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรกและร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งปัจจุบันสัตว์ในฟาร์มของ CPF 100% ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล     “ทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสุขภาพระดับโลก One Health อย่างเข้มแข็ง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภค เป็นความร่วมมือหนึ่งเดียวในการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา โดยคำนึงถึงสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าวCPF กำหนดเป้าหมายสำคัญภายใต้กลยุทธ์ความยั่งใหม่ “CPF 2030 Sustainability in Action” เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโต ในอีก 9 ปีข้างหน้า ซึ่งสวัสดิภาพสัตว์ เป็น 1 ใน 9 ความมุ่งมั่นด้านอาหารมั่นคง ในการส่งเสริมแม่สุกรอุ้มท้องอยู่ในคอกขังรวม 100% เพิ่มกำลังการผลิตไก่ไข่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระในโรงเรือนปิด 30% เทียบกับปี 2563 และการเลี้ยงไก่เนื้อได้รับการเสริมสภาพแวดล้อมทางกายภาพ มี แกลบ กระสอบทราย ลูกบอล และคอน ให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมจิกและเกาะตามธรรมชาติ ภายในปี 2573 ปัจจุบันสัตว์ในฟาร์มของบริษัทฯ 100% ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผลน.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า CPF บริหารจัดการธุรกิจตามหลักสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล บนพื้นฐานทางวิทยาศาตร์ ด้วยตระหนักดีว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ส่งผลดีต่อคุณภาพของเนื้อสัตว์และการผลิตอาหารปลอดภัย สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุน ลดการสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในตลาดโลก ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทานดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน สร้างห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง ตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทางการผลิต จนถึงปลายทางสู่มือผู้บริโภค      CPF ยังพัฒนานวัตกรรมสวัสดิภาพสัตว์และติดตั้งเทคโนโลยีระบบ “Smart Farm” เช่น ระบบ Smart Eyes มาใช้ในฟาร์มไก่เนื้อ ให้สามารถติดตามสวัสดิภาพสัตว์ การกินอาหารและน้ำของสัตว์ แบบ Real-Time ให้ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมตลอดช่วงการเลี้ยง ลดการเข้าออกของพนักงาน ลดความเสี่ยงของโรคและการสัมผัสจากมนุษย์ เป็นต้นCPF ยังวัดผลการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Welfare Outcome Measures : WOMs) เพื่อประเมินว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติสวัสดิภาพชั้นสูง ส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้ง ตลอดจนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักมนุษยธรรม ลดผลกระทบต่อสัตว์อย่างรอบคอบ ตามเป้าหมาย “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เชื่อมโยงความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน./ CR : CPF

CPF ขับเคลื่อน “สุขภาพหนึ่งเดียว” ผลิตอาหารมั่นคง ปลอดภัย ใส่ใจคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม Read More »

รองจุรินทร์เข้าใจหมูแบกต้นทุนอาหารสัตว์และการป้องกันโรค เน้นดูแลผู้บริโภคผ่านห้างค้าปลีก และโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา

รองจุรินทร์เข้าใจหมูแบกต้นทุนอาหารสัตว์และการป้องกันโรค เน้นดูแลผู้บริโภคผ่านห้างค้าปลีก และโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา 10 พฤศจิกายน 2564 รัฐสภา – ท่านรองนายกจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงภาคบริษัท ผู้บริหารซีพีเอฟ และเบทาโกร เข้าร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ การผลิต และตลาด เพื่อประเมินสถานการณ์หามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค สืบเนื่องจากข่าวหมูแพงในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ทำให้ท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยงข้องมาให้ข้อมูล       โดยกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ให้ข้อมูล จำนวนผลผลิต ความเสียหายจากโรคสุกร ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตสุกรขุนปี 2563 กับปี 2564 ต่างกันสิ้นเชิง  โดยปี 2563 ผู้เลี้ยงสุกรให้ความร่วมมือขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคาไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้น  เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนตามกลไกลตลาด โดยผู้เลี้ยงสุกรมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 65.67 บาท ส่วนปี 2564 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นราคาเฉลี่ยที่ผู้เลี้ยงสุกรขายได้เฉลี่ย 67-68 บาทต่อกิโลกรัมที่ต้นทุนประมาณ 78-80 บาท ตามการประเมินของคณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีราคาตกต่ำสุดช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ที่มีราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ตามข้อมูลจากตัวแทนผู้เลี้ยง  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจึงจำเป็นต้องขอขยับราคาขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน เพื่อลดความสูญเสียให้เกษตรกร วันพระล่าสุดที่ 4 พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 80-82 บาท ผู้เลี้ยงต้องปรับราคาจำหน่ายขึ้น เพื่อลดภาระขาดทุน ที่ผู้เลี้ยงมีต้นทุนผลิตสุกรที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักประกอบด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงถึง 10-11 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองสัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ราคา 19.80 บาทต่อกิโลกรัมและมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสต็อกผู้ผลิตในต่างประเทศลดลง  โดยมีค่าบริหารความเสี่ยงด้านโรคระบาดในสุกรที่เพิ่มขึ้น 300-400 บาทต่อตัว รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวคิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปี 2564 ทำให้ต้นทุนการผลิตทั้งปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 78.40 บาท  ซึ่งราคาสุกรหน้าฟาร์มที่สะท้อนต้นทุนไม่ควรต่ำกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ตามการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสาธารณะของนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา กรณีข้อกังวลของกระทรวงพาณิชย์ ด้านราคาจำหน่ายปลีกสุกรเนื้อแดง ที่จะกระทบค่าครองชีพผู้บริโภคนั้น ได้ข้อสรุป คือ ให้กรมการค้าภายใน ประสานขอความร่วมมือกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบด้วย Makro Lotus Big C ตรึงราคาเนื้อแดง (ที่ราคาเท่าไรให้ไปหารือ) เป็นเวลา 1 เดือน โดยตรวจสอบราคาปลีกห้างฯ วันนี้ประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัมทั้ง 3 ห้าง และเตรียมสินค้าเนื้อสุกรร่วมโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา ลดต้นทุนการเลี้ยง และระบาย Stock ข้าวเปลือก ให้กรมการค้าภายใน เป็นตัวกลาง เชิญสมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์(อคส.) เพื่อเจรจาต่อรองราคาที่เหมาะสม ใช้วัตถุดิบข้าวกะเทาะเปลือก เป็นวัตถุดิบทดแทน (คาดว่าภายในวันศุกร์นี้ 12 พฤศจิกายน 2564) ให้กรมปศุสัตว์ประสานฝ่ายเลขาท่านจุรินทร์ เพื่อเชิญประชุม คณะกรรมการอำนวยการ AFS แห่งชาติ เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อติดตามประเมินผลกระทบ และแผนฟื้นฟู ปี 2565 ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

รองจุรินทร์เข้าใจหมูแบกต้นทุนอาหารสัตว์และการป้องกันโรค เน้นดูแลผู้บริโภคผ่านห้างค้าปลีก และโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา Read More »

เอกชน จี้แก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ หลังราคาพุ่งสูงกว่า 20-30%

สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบุว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนผ่อนปรนมาตรการที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และ ภาษีนำเข้า DDGS 9% (Dry distillers Grains with Solubles) ผลผลิตที่เหลือจากการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ ปรับลดสัดส่วนการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศต่อการนำเข้าข้าวสาลี จากปัจจุบัน 3:1 เหลือ 1.5 : 1 และนำกลไกตลาดเสรีมาบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้สอดคล้องกับปัจจัยและต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน เพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย ส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน ไทยต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน และนำเข้าส่วนต่าง 3 ล้านตันภายใต้มาตรการของรัฐ คือ กำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : ข้าวสาลี (วัตถุดิบทดแทนข้าวโพด) ในอัตรา 3:1 ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 60% ของความต้องการต่อปี สัดส่วน 1.5 : 1 จึงเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมให้ภาคปศุสัตว์บริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดส่งออกได้ทั้งไก่สดแช่แข็งและอาหารสัตว์ นอกจากนี้ สัดส่วนดังกล่าวจะช่วยป้องกันการทุจริตจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม ความชื้น 14.5% ขณะที่ภาคเอกชนรับซื้อในราคาให้ความร่วมมือกับภาครัฐที่ 8 บาท/กิโลกรัม (เกษตรกรได้รับการชดเชยส่วนต่างราคาจากรัฐบาล) และยังต้องซื้อข้าวโพดตามราคาตลาดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเพดานราคากำหนด  ขณะที่กากถั่วเหลืองมีการนำเข้าปีละ 2.5 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีเพียง 50,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ทั้งเมล็ดและกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 5 ล้านตัน ต่อปี เปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นภายใต้โครงการประกันรายได้ของรัฐ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีมาตรการโปรงใสไม่ซับซ้อนเหมือนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเมื่อราคาปรับสูงจนเกษตรกรมีรายได้เพียงพอ กลไกการตลาดจะทำงานโดยอัตโนมัติ การนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนสามารถทำได้โดยเสรี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการและเครื่องมือทางการตลาดในการปกป้องผู้บริโภคจากการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตได้ เช่น โครงการธงฟ้า ที่สามารถตรึงราคาสินค้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนได้ สมาชิกสมาพันธ์ฯ ใช้อาหารสัตว์รวมกันประมาณ 90% ของการผลิตของประเทศ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 20-30% ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จนถึงปัจจุบันราคาวัตถุดิบสูงสุดในรอบ 13 ปี ราคากากถั่วเหลืองปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 13 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18-19 บาท ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขยับสูงสุดในเดือนกันยายน 2564 ที่ 11.50 บาท/กก. จากราคาเฉลี่ย 8-9.50 บาท/กก. รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20-30% กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ อาหารสัตว์เป็นต้นทุนการผลิต 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบหลักในสูตรอาหารสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์  ขณะที่สถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ไม่สามารถขายและส่งออกผลผลิตได้ตามปกติ การรักษาสถานะของไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดความเป็นธรรมโดยใช้กลไกการตลาดเสรีเป็นเครื่องในการสร้างสมดุลการค้าและการผลิต และนำมาตรการปกป้องผลประโยชน์ประเทศมาใช้อย่างสมเหตุสมผลโดยพิจารณาปัจจัยแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านทุกมิติ  เพื่อการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการรวมตัวกันของ 13 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแก้ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

เอกชน จี้แก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ หลังราคาพุ่งสูงกว่า 20-30% Read More »

เฉลิมชัย” สั่งกรมปศุสัตว์ดันไทยรักษาสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หนึ่งเดียวในอาเซียน

เฉลิมชัย สั่งกรมปศุสัตว์ดันไทยรักษาสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หนึ่งเดียวในอาเซียนคุมเข้มการเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่าหรือซากสุกร ซากหมูป่าในเขตเฝ้าระวังโรค     นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสร้างวิกฤติในโอกาส โดยสั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำงานเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever: ASF) ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้ประเทศไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะกระจายไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลกแล้วก็ตาม ทำให้การส่งออกสุกรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าการส่งออกในปี 2564 นี้จะเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นคงสถานะปลอดโรค ASF อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์จึงได้ร่างระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการอนุญาตเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่าหรือซากสุกร ซากหมูป่าเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ.2564 โดยล่าสุดได้ประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม 2564ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการอนุญาตเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่าหรือซากสุกร ซากหมูป่าเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ.2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์และนำไปเลี้ยง มีเงื่อนไขเพิ่มเติม1.1 กรณีฟาร์มปลายทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก ต้องทำลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP ขึ้นไป มีการใช้ตัวเฝ้าระวังในการทดสอบ (sentinel) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของกำลังการผลิต เลี้ยงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ และก่อนลงเลี้ยงจริงต้องมีการเก็บตัวอย่างพื้นผิวโรงเรือนเลี้ยงสุกร (surface swab) 2 ครั้ง ห่างกัน ครั้งละ 1 สัปดาห์​1.2 กรณีฟาร์มต้นทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก ต้องทำลายมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องเก็บตัวอย่างสุกรที่ฟาร์มปลายทางหลังลงเลี้ยงวันที่ 1 และ 7 ครั้งละ 15 ตัวอย่าง​1.3 เฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายข้ามเขต ต้องมีหลักฐานการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ อย่างน้อย 1 หน่วยงาน​1.4 กรณีเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปเลี้ยง ฟาร์มปลายทางต้องได้รับการรับรอง GFM ขึ้นไปเท่านั้น2. การเคลื่อนย้ายซากสุกรหรือหมูป่า ในวันที่เคลื่อนย้ายจริงต้องแนบใบ รน. ของซากชุดที่จะเคลื่อนย้ายไปพร้อมหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายทุกครั้ง สำหรับพื้นที่พิเศษ (พื้นที่ที่มีการออกหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายสุกรจำนวนมาก เช่น นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น) ต้องแจ้งแผนล่วงหน้า 14 วัน มีใบรับรองโรงฆ่า มีผล surface swab และผลตรวจซาก โดยการเก็บตัวอย่างซากดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทุกๆ 2 เดือน และการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงฆ่าดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกเดือน3. การเคลื่อนย้ายสุกรหรือหมูป่ามีชีวิตผ่านคอกขายกลาง ให้สัตวแพทย์พื้นที่ต้นทางทำหนังสือแจ้งสถานที่ปลายทางถัดจากคอกกลางแก่สัตวแพทย์พื้นที่ที่คอกกลางตั้งอยู่ โดยแนบไปพร้อมหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบกรมปศุสัตว์ฯ ฉบับนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรหมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันส่งผลให้การป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นการสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคแก่เกษตรกรมากเกินความจำเป็น รวมทั้งเป็นการช่วยให้การปฏิบัติงานในการคงสถานะปลอดโรค ASF ของประเทศไทยและรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง

เฉลิมชัย” สั่งกรมปศุสัตว์ดันไทยรักษาสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หนึ่งเดียวในอาเซียน Read More »

จีนกว้านซื้ออาหารสัตว์ ดันต้นทุนวัตถุดิบกระฉูด

   “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ราคาแพงข้ามปี หลังจีนแห่เลี้ยงมากขึ้น-พายุถล่มสหรัฐฉุดผลผลิตหด ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เตรียมหันใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น หวังลดต้นทุนเลี้ยงสัตว์ “ปลายข้าว-รำ-มัน” ส้มหล่น แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเปิดเผยว่า สถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ในไตรมาส 4 เช่น ข้าวโพดเพิ่มขึ้น 30% เฉลี่ยราคา กก.ละ 11-11.50 บาท จากปี 2563 ราคา กก.ละ 9 บาท ส่วนราคาถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 25% เฉลี่ย กก.ละ 20 บาท จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย กก.ละ 15 บาท ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้น 10% นับตั้งแต่ไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1 ของปี 2565 โดยปัจจัยที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีน สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้จีนมีความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเข้ามาสต๊อกไว้เพื่อใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงกลางปีนี้ ขณะที่ประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น สหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา และสหราชอาณาจักร (ยูเค) เริ่มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่สำคัญของโลก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง แม้ว่าจะขยายพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้นปี 2564 แต่ผลผลิตไม่ได้เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้เพราะได้รับผลกระทบจากพายุ แม้ราคาจะอ่อนตัวลงบ้างที่ในช่วงที่ผลผลิตออกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 แต่ราคาวัตถุดิบยังคงมีแนวโน้มที่สูง ต้นทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทยยังได้รับผลกระทบอย่างค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตอนนี้ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ค่าน้ำมัน รวมเป็นต้นทุนค่าขนส่งการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยยังคงสูง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาซื้อ-ขายเฉลี่ย กก.ละ 4-5 บาท ช่วงกลางปี 2563 แต่เมื่อจีนเริ่มนำเข้า ราคาปัจจุบันปรับขึ้น เฉลี่ย กก.ละ 6-8 บาท หากคิดค่าจัดการขนส่ง เช่น หากส่งมาที่เวียดนามราคาก็ปรับขึ้นที่ กก.ละ 7 บาท คือ บวกต้นทุนอีก 2 บาท ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองกก.ละ 12-13 บาท ขณะนี้ขึ้นเป็น กก.ละ 15-18 บาท กากถั่วเหลือง กก.ละ 18-19 บาท ซึ่งเป็นราคารวมค่าขนส่ง การจัดการแล้ว ข้าวสาลีเดิมเฉลี่ย กก.ละ 7-8 บาท ตอนนี้ กก.ละ 11-12 บาท และประเมินว่าจะมีราคานี้จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ส่งผลให้แนวโน้มผู้ประกอบการอาหารสัตว์จะหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลายข้าว ทั้งนี้ สัดส่วนความต้องการใช้อาหารสัตว์กว่า 90% อยู่ที่สัตว์บก และจะสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงอากาศดีทำให้สัตว์กินอาหารได้มาก ส่วนสัตว์น้ำความต้องการอาหารสัตว์ต่อปีอยู่ที่ 5-6% ซึ่งกินน้อย และช่วงหน้าหนาวก็กินน้อยเนื่องจากอากาศเย็น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดใกล้หมดแล้ว จำเป็นต้องรอดูว่าจะเริ่มการเพาะปลูกในปีหน้า แต่จากแนวโน้มจะรอการประเมิน “ยังคงสูง” ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์หันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ส่วนปลาป่นปัจจุบันความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากผู้นำเข้ามีมาตรฐานให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดการใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้ไปใช้พืชแทน ส่งผลให้การใช้น้อยมาก ส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ทางผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องคำนึงถึงสารอาหารโปรตีน เนื่องจากวัตถุดิบบางตัวโปรตีนไม่มากพอ โดยวัตถุดิบที่มีโปรตีนมากสุด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลผลิตประเทศไทยมีผลผลิตน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ระหว่างการส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังหลังนาเพื่อนำมาทดแทน คาดว่าจะมีการเพาะปลูกที่มากขึ้น แม้โปรตีนมันสำปะหลังจะน้อยเพียง 2% แต่ก็ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากราคายังคงสูงอยู่ เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ 70% มาจากอาหารสัตว์ หากราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงของกลุ่มผู้เลี้ยงได้ ต่อปีอาหารสัตว์ผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 20 ล้านตัน ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

จีนกว้านซื้ออาหารสัตว์ ดันต้นทุนวัตถุดิบกระฉูด Read More »

ระบบไบโอซีเคียวริตี้” ป้องหมูซีพีปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย

CPF ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมของไทย ชูมาตรฐานฟาร์มสุกรระบบไบโอซีเคียวริตี้ในการเลี้ยงสุกรซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคสัตว์ต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังยกระดับการป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานภายในฟาร์ม โดยวางระบบบับเบิลแอนด์ซีลและฉีดวัคซีนให้ทุกคน ป้องเชื้อโควิดเข้าพื้นที่ฟาร์ม 100% มั่นใจความปลอดภัยทั้งสุกรและคนเลี้ยง ผู้บริโภคสามารถบริโภคได้หมูซีพีได้อย่างสบายใจ    น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านวิชาการ สายธุรกิจสุกร CPF เปิดเผยว่า ปัจจุบันฟาร์มสุกรทั้งหมดของ CPF ดำเนินมาตรฐานฟาร์มตามแนวทางของกรมปศุสัตว์ และยกระดับสู่ “ระบบไบโอซีเคียวริตี้” เข้มข้นเรื่องการป้องกันโรคระบาดสัตว์ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเลี้ยงสุกรปลอดโรค อันจะส่งผลให้ได้เนื้อหมูอนามัยที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค“CPF ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยในขั้นตอนของการเลี้ยงสุกร เป็นอีกข้อต่อที่สำคัญของความปลอดภัยทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันโรคระบาดสัตว์ โดย CPF ได้ยกระดับมาตรฐานฟาร์มสุกรเข้าสู่ระบบไบโอซีเคียวริตี้แล้วทั้งหมด แม้จะมีความยุ่งยากในการดำเนินการ แต่สุดท้ายได้ประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อสุกรทุกตัวในฟาร์มมีสุขภาพดีและปลอดโรค” น.สพ.ดำเนิน กล่าว     มาตรฐานฟาร์มสุกร CPF ในระบบไบโอซีเคียวริตี้ เป็นระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ป้องกันสัตว์พาหะทั้งหนู นก แมลงต่างๆ โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้ภายในฟาร์มไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรืออื่นๆจะมีการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งที่มา ซึ่งทุกฟาร์มจะรับจากแหล่งที่ปลอดภัยเท่านั้น ทั้งยังต้องควบคุมรถขนส่งเข้า-ออกฟาร์มอย่างเข้มงวด รถทุกคัน-พนักงานทุกคนต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนหรือพาหนะนั้นๆ จะไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงการกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากฟาร์ม ทั้งนี้ไม่เพียงฟาร์มของบริษัทแต่ยังถ่ายทอดมาตรการการป้องกันโรคนี้ให้กับเกษตรกรในคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัทฯ ทั่วประเทศครบทุกรายแล้ว ยืนยันได้ในความปลอดภัยของกระบวนการผลิตสุกรเพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคขณะเดียวกัน ในสถานการณ์โควิด CPF ยังยกระดับการป้องกันโรคขั้นสูงสุดให้แก่พนักงานในฟาร์มทุกคน ตั้งแต่การสำรวจและคัดกรองคนก่อนเข้าฟาร์ม การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย มาตรการรักษาสุขอนามัย โดยพนักงานทุกคนที่เข้าฟาร์มต้องผ่านการตรวจอุณหภูมิของร่างกาย จุ่มเท้าฆ่าเชื้อ สเปรย์มือด้วยแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย รณรงค์สร้างความตระหนักด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลให้แก่พนักงาน หมั่นล้างมือด้วยน้ำ สบู่ แอลกอฮอล์ มาตรการรักษาความสะอาดโดยทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสหรือใช้ร่วมกันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ของพื้นที่และสิ่งของภายในฟาร์มทั้งก่อนและหลังการใช้งาน ตลอดจนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้พนักงานทุกคน    “ลักษณะของฟาร์ม เป็นสถานที่อากาศถ่ายเท และไม่มีพนักงานจำนวนมาก ดังนั้น การจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อผนวกกับระบบไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์มมาตรฐาน จึงมั่นใจได้ว่าสุกรทุกตัวของ CPF มีความแข็งแรง ปลอดโรคและปลอดภัยต่อการบริโภค” น.สพ.ดำเนิน กล่าว./

ระบบไบโอซีเคียวริตี้” ป้องหมูซีพีปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย Read More »

ส่งกำลังใจต่อเนื่อง‼️ CPF โรงงานผลิตอาหารสัตว์ท่าเรือ มอบอาหาร-ครุภัณฑ์ หนุน ศูนย์พักคอยอยุธยา

ส่งกำลังใจต่อเนื่อง CPF โรงงานผลิตอาหารสัตว์ท่าเรือ มอบอาหาร-ครุภัณฑ์ หนุน ศูนย์พักคอยอยุธยาคุณสกุลยศ สามเสน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และคุณจิระ คงเขียว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นำชาว CPF จิตอาสา โรงงานผลิตอาหารสัตว์ท่าเรือ มอบน้ำดื่มซีพี 360 ขวด และพัดลมตั้งโต๊ะ 10 เครื่อง จาก CPF ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ตามนโยบายเครือซีพี ให้กับศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อโควิดระดับตำบล โดยมี คุณบำรุง ม่วงวิจิตร นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง และสมาชิกเทศบาลตำบลท่าหลวงฯ รับมอบ./

ส่งกำลังใจต่อเนื่อง‼️ CPF โรงงานผลิตอาหารสัตว์ท่าเรือ มอบอาหาร-ครุภัณฑ์ หนุน ศูนย์พักคอยอยุธยา Read More »

วิ่งร้อยเรียงความดี… ‘CPF Running Club’ มอบเงินสนับสนุน “กองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19” 🏃🏻‍♂️🏃🏻‍♀️💪🏻

วิ่งร้อยเรียงความดี… ‘CPF Running Club’ มอบเงินสนับสนุน “กองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รับมอบเงินบริจาค 1.1 ล้านบาท จาก CPF เพื่อสนับสนุน “กองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่างๆ)” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์โควิด โดยเงินดังกล่าว เป็นรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมวิ่งการกุศลในวิถีใหม่ “CP Run For Good Deeds VIRTUAL RUN 2021 วิ่งร้อยเรียงความดี” มีชมรม CPF Running Club และนักวิ่ง เข้าร่วมกิจกรรม 2,623 คน โดยมี คุณเรวัติ หทัยสัตย์พงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร พร้อมด้วย คุณบุญเสริม เจริญวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF ในฐานะรองประธานชมรมฯ ร่วมมอบ ณ มูลนิธิชัยพัฒนากิจกรรม “CP Run For Good Deeds VIRTUAL RUN 2021 วิ่งร้อยเรียงความดี” ภายใต้แคมเปญ “ซีพีร้อยเรียงความดี” จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเครือซีพีครบรอบ 100 ปี ในรูปแบบ Virtual Run หรือวิ่งเสมือนจริง ซึ่งนักวิ่งสามารถเลือกได้ว่าจะวิ่งที่ไหน เวลาใด ที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและต้านภัยโควิด ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-29 ส.ค.64 ทั้งนี้ ผู้สมัครยังได้ร่วมทำความดี โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมอบให้กับกองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19./

วิ่งร้อยเรียงความดี… ‘CPF Running Club’ มอบเงินสนับสนุน “กองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19” 🏃🏻‍♂️🏃🏻‍♀️💪🏻 Read More »

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)