รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค
ยังคงเป็นประเด็นร้อนในทุกประเทศของเอเชีย เกี่ยวกับโรค ASF บทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงการป้องกันโรคเพราะเชื่อมั่นว่ากลุ่มฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ส่วนมากก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันฟาร์มของตนเองจากโรคนี้ได้ ด้วยการใช้หลักการการป้องกันโรคทั่วไปของฟาร์ม จึงทำให้ฟาร์มมักรอดพ้นจากโรค ส่วนฟาร์มที่มักติดโรค ก่อนเสมอในแต่ละเขตพื้นที่ มักเป็นฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นฟาร์มที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดีและเพียงพอที่จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าจะมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายรายที่อยากจะปรับปรุงพัฒนาระบบป้องกันโรคให้ได้เหมือนฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ก็ขาดเงินลงทุน ทำให้ขาดความพร้อมด้านโครงสร้างฟาร์มที่จะช่วยในการป้องกันโรค อย่างเช่น การก่อสร้างรั้วให้ได้มาตรฐานที่สามารถป้องกันสัตว์พาหะ หรือการทำโรงเรือนให้เป็นระบบปิดปรับอากาศหรือที่เรียกว่าอีแว็ป หรือมีมุ้งป้องกันแมลงวันที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากฟาร์มหมูที่ป่วย หรือการสร้างเล้าขายหมูที่แยกออกมาจากฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปรับซื้อหมูถึงหน้าเล้าและสัมผัสกับตัวหมูในฟาร์มโดยตรง หรือการไม่มีเงินที่จะขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อให้หมูบริโภค เลยต้องใช้น้ำผิวเดินที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากการที่มีผู้นำเอาหมูป่วยตายมาทิ้งลงแหล่งน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากปัญหาด้านงบลงทุนของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จึงมักพบความเสี่ยงต่อการนำโรคเข้าฟาร์มคือ แหล่งวัตถุดิบของอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรและแหล่งรับการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์เร่ผสม กรณีความเสี่ยงจากวัตถุดิบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง หรือการใช้แหล่งอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ต้องไปซื้อหัวอาหารจากโรงสีที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่ที่เดียวกัน หรือไปซื้ออาหารจากร้านขายอาหารที่ทำธุรกิจชำแหละหมูร่วมด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีความเสี่ยงจากแหล่งพ่อพันธุ์ที่นำมาใช้ผสมพันธุ์ในฟาร์ม เกิดจากผู้เลี้ยงรายย่อยไม่มีเงินทุนพอที่จะเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้ใช้เองในฟาร์ม เลยต้องรับบริการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์รถเร่ที่รับผสมพันธุ์ร่วมกกันจากหลายฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดโรคในสุกรของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
และที่สำคัญการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารโรคระบาดของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย อาจเข้าถึงได้น้อยกว่าผู้เลี้ยงรายกลางและใหญ่ ทำให้ไม่มีการเฝ้าระวังโรคจากฟาร์มข้างเคียงได้รวดเร็วพอ กว่าจะรู้ว่ามีหมูป่วยในพื้นที่ก็ปรากฏว่า โรคได้แพร่เข้าสู่ฟาร์มแล้ว ดังจากข่าวที่เราพบในต่างประเทศ เมื่อพบการเกิดโรคขึ้นจุดหนึ่ง พอตรวจประเมินฟาร์มที่อยู่ข้างเคียงก็มักจะพบหมูติดเชื้อไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบว่า ฟาร์มที่รับซื้อหมูไปเลี้ยงเกิดโรคขึ้นมา เมื่อตรวจสอบที่ฟาร์มต้นทางก็ปรากฏว่า มีการติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจประเมินเพื่อเฝ้าระวังโรคทั้งฟาร์มต้นทางและปลายทางจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อขายและเคลื่อนย้ายหมูในเขตพื้นที่เสี่ยง
โรค ASF จะแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้จะต้องมีพาหะพาไป เชื้อโรคมักแพร่ไปกับตัวหมูจากการขนส่งหมูมีชีวิตที่สุขภาพยังปกติจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง หรือเชื้อโรคแพร่ไปกับเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในตลาดที่เกิดจากการขายหมูที่ติดเชื้อโรคแล้วขายเข้าโรงชำแหละ หรือ เชื้อโรคติดมากับรถรับซื้อหมูที่อาจผ่านการขนส่งหมูป่วยโดยที่ไม่ทราบ หรือเชื้อโรคติดมากับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาด เป็นต้น
จากรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศพบว่าในพื้นที่มักพบโรคระบาดเกิดขึ้นก่อน คือในผู้เลี้ยงหมูรายย่อย โดยความผิดพลาดที่พบคือการไม่ทราบว่าหมูเป็นโรคอะไรทำให้การทำลายหมูป่วยที่ติดโรคช้า เชื้อโรคจึงแพร่เชื้อไปในสิ่งแวดล้อม หรือการลักลอบเทขายหมูที่มีความเสี่ยงติดโรคโดยไม่รอการตรวจสอบยืนยัน การกระทำนี้จะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่ไปกับตัวหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ที่สามารถแพร่ไปได้ไกลจนกว่าจะมีใครมาสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วนำกลับเข้าฟาร์ม หรือฟาร์มบางรายอาจฝังทำลายหมูป่วยแบบไม่ถูกต้อง บ่อที่ฝังหมูอาจระเบิดจากแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักตามธรรมชาติ หรือมีน้ำหลืองหมูเยิ้มออกมาจากปากหลุมที่ปิดไม่สนิทหรือไม่หนาเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งล่อให้แมลงวันมาสัมผัส ฟักไข่ เกิดลูกหลานแมลงวันที่สามารถแพร่เชื้อโรคต่อไปได้ในฟาร์มบริเวณใกล้เคียง หรือการทิ้งซากหมูป่วยตายลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคแพร่ไปได้ไกลตามที่น้ำไหลไปถึงได้เช่นกัน
ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี ควรเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการฟาร์มหมูทั้งรายกลางและรายใหญ่ และฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และควรดำเนินการเป็นพื้นที่เช่น จังหวัด หรือเขตปศุสัตว์ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจการแพร่โรค และเข้าใจการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง การแพร่กระจายของโรคก็จะลดลงและสามารถควบคุมโรคได้ในที่สุด แต่หากมีเพียงฟาร์มหมูรายใดรายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ความเสี่ยงจากการแพร่โรคในพื้นที่นั้นย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน และหากไม่สามารถหยุดยั้งโรคได้ การแพร่ระบาดโรคในวงกว้างก็อาจเกิดขึ้น ผลเสียก็ตกไปที่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยหลักการควบคุมโรค ASF นั้นอาศัยหลักการที่ว่า “รู้เร็ว จัดการเร็ว จบเร็ว” ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่เข้าใจลักษณะของโรคอย่างลึกซึ้ง อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการควบคุมโรค อย่างเช่น คำว่า “รู้เร็ว” หรือ Early Detection ถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการควบคุมโรคเลยก็ว่าได้ โดยทางทฤษฏี คือการที่ทราบได้อย่างรวดเร็วว่าหมูในฟาร์มตัวแรกติดโรคแล้ว ถึงตรงนี้ก็จะต้องย้อนคิดด้วยว่าโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5-15 วัน ดังนั้นการตรวจพบหมูป่วยตัวแรก ก็แสดงว่าการติดเชื้อของฟาร์มนี้อาจเกิดขึ้นมาในช่วง 15 วันก่อนหน้านั้นแล้ว และโดยปกติหมูที่เริ่มป่วยมักมีอาการไม่ชัดเจน หากเราไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจหรือใช้เวลาตรวจสอบยืนยันนาน ก็จะส่งผลเสียเพราะโรคในฟาร์มอาจลุกลามจนยากจะแก้ไข
ดังนั้นการตรวจสอบว่าหมูในฟาร์มป่วยให้ได้เร็วที่สุดจึงมีความจำเป็น และปกติการตรวจหมูที่สุขภาพดี มักจะไม่พบการติดเชื้อซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเพื่อให้ทราบการติดเชื้อได้เร็ว ฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงการระบาด อาจต้องสุ่มตรวจหมูทุกตัวที่ตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะวิธีการนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะสามารถตรวจพบโรคได้เร็วกว่าการตรวจหมูที่สุขภาพดี และนอกเหนือจากการตรวจสอบโรคใด้เร็วแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาคือ “การสืบสวนโรค” หรือการสืบค้นหาหมูกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อเพราะมีความเชื่อมโยงกับหมูที่ป่วยเป็นโรค กรณีนี้จะใกล้เคียงกันกับโรคโควิด – 19 ในคน คือการสืบหาผู้สัมผัสเชื้อและมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ซึ่งจะต้องสืบหากลุ่มเสี่ยงให้ครบถ้วน เพื่อการตรวจสอบและแก้ไข ก่อนที่กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะแพร่เชื้อต่อไป
สำหรับหมูที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ก็คือหมูที่มีโอกาสสัมผัสกับหมูที่ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น คนเลี้ยงเดียวกัน ใช้อุปกรณ์ฉีดยาและวัคซีนร่วมกัน ใช้น้ำเชื้อจากแหล่งเดียวกัน ขนส่งด้วยรถขนเส่งเดียวกัน มีบุคคลจากภายนอกเข้ามาในโรงเรือนเป็นคนเดียวกัน เป็นต้น โดยหมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคเหล่านี้ จะต้องถูกตรวจสอบการติดเชื้อภายในระยะเวลามากกว่า 15 วัน นับจากวันที่คาดว่าหมูกลุ่มนี้ไปสัมผัสเชื้อโรค ด้วยความเสี่ยงที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเคลื่อนย้ายหมูออกจากพื้นที่ระบาดของโรคโดยไม่รอการตรวจสอบตามระยะเวลาที่ถูกต้อง จะเป็นความเสี่ยงสำคัญยิ่งยวดของการแพร่กระจายโรค
ซึ่งกรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับโรคโควิด-19 คือผู้มีความเสี่ยงต่อการติดโรคต้องถูกกักโรคอย่างน้อย 14 วัน ตามระยะเวลาฟักโรค ดังนั้นสำหรับโรค ASF หมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดโรคนี้ควรกักไว้ในพื้นที่ที่แยกจากหมูกลุ่มอื่นๆ หรือที่เรียกว่าเล้ากักโรค และต้องตรวจสอบยืนยันโรคอีกครั้งเมื่อผ่านพ้นระยะกักโรคคือมากกว่า 15 วันขึ้นไป และถ้าจะให้มั่นใจก็ควรรอตรวจสอบจนถึง 30 วัน หรือประมาณ 2 รอบของระยะฟักตัวของโรค
จากมูลเหตุของปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวมา เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การระบาดของโรคขึ้นกับความพร้อมด้านการป้องกันโรคเป็นหลัก โดยฟาร์มในประเทศไทย มีทั้งฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการป้องกันโรคได้ดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง กับฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่ไม่มีความพร้อมในการป้องกันโรคกระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคดังกล่าวในแต่ละพื้นที่ คงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีศักยภาพในการป้องกันโรค ให้ช่วยเหลือฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่ของตัวเองด้วย เพราะหากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในเขตพื้นที่ตนเองป่วยเป็นโรคในปริมาณมากๆ ฟาร์มหมูรายกลางและรายใหญ่ก็จะมีความเสี่ยงที่อาจจะติดโรคนี้ไปด้วย เพราะโรคนี้จะแตกต่างจากโรคหมูชนิดอื่น ที่ทุกคนไม่อาจปปฏิเสธได้ คือ “เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ไม่มีวัคซีนป้องกัน” ดังนั้น การป้องกันโรคและควบคุมโรคจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมในระดับฟาร์มเท่านั้น การป้องกันและควบคุมโรคระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต้องทำให้ครบรอบด้านทั้งหมด ถึงจะสามารถรับมือโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะขอให้ข้อมูลรายละเอียดอีกครั้งในบทความตอนต่อไป
ก่อนจบในตอนแรกนี้ขอฝากถึงผู้เลี้ยงหมูทุกท่านอีกครั้งว่า โรค ASF เป็นโรคที่น่ากลัวก็จริงแต่ก็ยังมีแนวทางที่จะป้องกันและควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่ควรให้ความตระหนักมิใช่ตระหนกจนกลัวไปเสียทุกสิ่ง เชื้อโรคจะแพร่ไปได้ก็ต่อเมื่อมีพาหะพาไปเท่านั้น และเมื่อมีโรคเกิดขึ้น ณ ฟาร์มหนึ่งๆ แล้วนั้น หมูกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงก็คือ หมูที่มีโอกาศสัมผัสกับหมูป่วยโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยหมูที่มีความเสี่ยงสูงคือหมูที่สัมผัสใกล้ชิดกับหมูป่วยโดยตรง เช่นอยู่ในคอกหรือเล้าเดียวกัน ส่วนหมูที่อยู่อยู่ต่างเล้าความเสี่ยงก็จะลดลง หากไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกัน เช่นไม่ใช้อุปกรณ์ฉีดวัคซีนร่วมกัน คนเลี้ยงร่วมกัน หรือมีสัตว์พาหะแพร่เชื้อเช่นแมลงวัน หนู เป็นต้น
ส่วนฟาร์มที่อยู่ห่างออกไป และไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงถึงกันเลย ความเสี่ยงก็จะน้อยลงไปตามลำดับความเชื่อมโยงที่มี ดังนั้นการเกิดโรคในฟาร์มแห่งหนึ่ง ในอำเภอหรือจังหวัดหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าหมูทุกตัวในจังหวัดนั้นมีความเสี่ยง เพราะหมูที่มีความเสี่ยงสูงอาจเป็นหมูอีกจังหวัดหนึ่งก็อาจเป็นได้หากสืบสวนแล้วพบว่ารับหมูทดแทนจากฟาร์มที่ป่วยนี้ไป ดังนั้นขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นในมาตรการป้องกันโรคของตนต่อไป และตรวจสอบทุกครั้งหากสังสัยว่าฟาร์มตนเองอาจมีความเชื่อมโยงกับแหล่งหมูป่วย แล้วพบกันใหม่ในบทความตอนต่อไป ว่าควรต้องทำอย่างไรให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด”
CR. น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)
อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ