Logo-CPF-small-65png

วงการปศุสัตว์

ซีพีเอฟ มุ่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์

ซีพีเอฟ มุ่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ ปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรสู่มาตรฐานโลก เมื่อ : 2019-03-12    บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรอุ้มท้อง ให้สอดคล้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ระดับโลก โดยตั้งเป้า 100% ของฟาร์มสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องเป็นระบบการเลี้ยงแบบคอกขังรวมภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และปี 2571 สำหรับกิจการในต่างประเทศ    น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า การปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์เป็นไปตามนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ของซีพีเอฟ ซึ่งได้ประกาศใช้กับกิจการของบริษัททั่วโลก เมื่อเดือนเมษายน ปี 2561 เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากความเครียด เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ตามหลักอิสรภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) ซึ่งในปัจุบันบริษัทมีการปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรอุ้มท้องในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2560 เป็น 32% เมื่อปีที่แล้ว    น.สพ.ดำเนิน เสริมว่าการปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์ตามหลักสวัสดิภาพในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ได้อีกด้วย    ซีพีเอฟ เป็นองค์กรที่ทำฟาร์มปศุสัตว์และผลิตอาหารด้วยความรับผิดชอบ การประกาศนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ จะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตอาหารปลอดภัย ตามหลักมนุษยธรรม และมีคุณภาพดีสำหรับทุกๆคน” น.สพ.ดำเนิน กล่าวย้ำ    น.สพ.ดำเนิน กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงฟาร์มสุกรแม่พันธุ์แล้ว บริษัทฯ ได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อบริหารสิ่งแวดล้อมในฟาร์มระบบปิดให้ใกล้เคียงธรรมชาติตามมาตรฐานสากล ลดความเครียดของสัตว์ทำให้สัตว์แข็งแรงไม่ป่วย อย่างไรก็ตามเมื่อสัตว์ป่วย ยังจำเป็นต้องให้การรักษาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งสัตว์ที่ป่วยจะถูกแยกออกมาทำการรักษาในที่ที่จัดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ในฟาร์มมีสุขภาพดี “ฟาร์มเลี้ยงสุกรทั้งหมดของบริษัทได้รับการปรับปรุงให้เป็นโรงเรือนระบบปิดควบคุมอุณหภูมิด้วยการระเหยของน้ำ (EVAP) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคแล้ว ยังทำให้สัตว์อยู่สุขสบาย ลดความเครียด” น.สพ.ดำเนิน อธิบาย    นโยบายสวัสดิภาพสัตว์ของ ซีพีเอฟ ยังครอบคลุมสัตว์ปีก โดยทำการศึกษาเพื่อพัฒนาฟาร์มไก่ไข่บริษัทในประเทศไทย ไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน (cage free) ตลอดจน ฟาร์มไก่เนื้อทุกประเทศจะมีเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ปีก (Poultry Welfare Officer) ในปี 2563 ส่วนฟาร์มไก่เนื้อในประเทศไทยทั้งหมดเป็นระบบการเลี้บงตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ ตั้งแต่ปี 2543    ในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารไทยเพียงหนึ่งเดียว จาก 150 บริษัทชั้นนำทั่วโลกที่ได้ร่วมการประเมิน รายงานมาตรฐานด้านการดำเนินธุรกิจตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ หรือ The Business Benchmark on Farm Animal Welfare Report ซึ่งเป็นรายงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค และนักลงทุนทั่วโลก โดยบริษัทได้ถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับที่ 4 มีการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ (Tier 4 Making progress on implementation)

ซีพีเอฟ มุ่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ Read More »

12 ขั้นตอนเลี้ยงไก่เนื้อมาตราฐานบริษัท

12 ขั้นตอน เลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐานบริษัท      ไก่เนื้อในปัจจุบันมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเปลี่ยนอาหาร (Feed conversion ratio : FCR) ดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นขั้นตอนการเลี้ยงและการบริหารจัดการฟาร์มไก่เนื้อให้ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ ตามมาตรฐานฟาร์มของบริษัทใหญ่ที่เลี้ยงแบบเข้าออกพร้อมกันทั้งหมด (All in – all out) มีอะไรบ้าง พอจะสรุปให้เข้าใจได้ดังนี้ โดยเริ่มจากการเข้าสู่การพักโรงเรือน (Down time) หรือที่เราเรียกกันว่า “พักเล้า” อย่างน้อย 7-14 วัน หรืออาจใช้ระยะเวลามากกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทที่เป็นคอนแทรคฟาร์มด้วย สำหรับวิธีการนี้ส่งผลดีกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่สำหรับผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลฟาร์มอาจต้องเหนื่อยมากหน่อย…แต่คุ้ม 1. จัดการนำวัสดุรองพื้นเก่า (มูลไก่ที่ผสมแกลบ) ออกจากโรงเรือน 2. ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในและภายนอกโรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ให้สะอาด เช่น อุปกรณ์ให้น้ำ ให้อาหาร ผ้าม่าน ฯลฯ พร้อมเก็บตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดโรคระบาด 3. จัดการนำวัสดุรองพื้น (แกลบ) ที่สะอาดเข้าโรงเรือน โดยปูวัสดุรองพื้นให้มีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว (8-10 เซนติเมตร) ขั้นตอนนี้ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ความสะอาดของแกลบทุกครั้ง 4. เกลี่ยแกลบให้เต็มพื้นที่โรงเรือน และเตรียมอุปกรณ์การเลี้ยงให้พร้อม รวมถึงการทำใบขออนุญาตลงไก่ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ด้วย 5. เลี้ยงไก่ตามโปรแกรมพร้อมติดตามผล 24 ชม. จนครบระยะเวลาการเลี้ยงหรือตามน้ำหนักที่บริษัทกำหนด ซึ่งจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.3-2.8 กิโลกรัม หรือเลี้ยง 28-60 วัน 6. ก่อนจับไก่ออกจากโรงเรือนต้องเก็บตัวอย่างไปตรวจ เพื่อหาเชื้อไข้หวัดนก (สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่) รอผลแลปประมาณ 7-10 วัน ก่อนจับ เพื่อนำไปประกอบกับใบอนุญาตเคลื่อนย้าย 7. มีการตรวจงานฟาร์ม (ออดิท) ตามมาตรฐานของบริษัทใหญ่ คิดเป็นคะแนน 10% 8. เก็บตัวอย่างมูลไก่ตรวจหาเชื้อซัลโมเนลลาก่อน เพื่อจัดคิวเข้าโรงเชือด 9. สุ่มชั่งน้ำหนักหาค่าเฉลี่ยของตัวไก่ก่อนเข้าเชือด เพื่อการประมาณรถบรรทุกไก่ใหญ่ มีค่าวิเคราะห์ความแม่นยำ คิดเป็นคะแนน 20% 10. ทำใบเคลื่อนย้ายสัตว์ ร.1 และรอใบอนุญาต ร.4 จากสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ 11. จับไก่ออกจากโรงเรือนแล้ว รอผลน้ำหนักหน้าโรงงาน สรุปการ์ดหน้าเล้า โดยค่า pi (ประสิทธิภาพการเลี้ยง) มีน้ำหนักการนำไปจัดเกรดฟาร์ม อีก 35% และบวกกับคะแนนการตกราวอีก 25% อีก 10% คือ คะแนน bio 2 = การสุ่มตรวจฟาร์มแบบไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า 12. รอสรุปบัญชี ภายใน 14 วันหลังจับไก่

12 ขั้นตอนเลี้ยงไก่เนื้อมาตราฐานบริษัท Read More »

ฟาร์มหมู ซีพีเอฟ อยู่สบาย สไตล์รีสอร์ท

ฟาร์มหมูซีพีเอฟ อยู่สบาย สไตล์รีสอร์ท ปลอดโรค ปลอดกลิ่น อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ระบบการเลี้ยงหมูสมัยใหม่ของซีพีเอฟ ซึ่งมีแนวคิดการยกรีสอร์ทมาไว้ที่ฟาร์มของบริษัท ด้วยระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย การดูแลอย่างใส่ใจ ใกล้ชิด ให้อยู่สบาย มีความสุข และสุขภาพแข็งแรงตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในฟาร์ม อีกทั้งยังควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อชุมชนอีกด้วยค่ะ ปลอดเชื้อ ปลอดภัย ตั้งแต่ก้าวแรก ฟาร์มสุกรทั้งหมดของซีพีเอฟเป็นการเลี้ยงด้วยระบบ Biosecurity ซึ่งเป็นระบบการป้องกันเชื้อโรคตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฟาร์ม เช่น ระบบโรงเรือนปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำ หรือ ระบบ Evaporative Cooling System (EVAP) มีระบบฆ่าเชื้อรถขนส่ง และทุกคนที่เข้า-ออก ฟาร์ม รวมถึงกำหนดจุดส่งมอบสินค้าแยกจากฟาร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องระบบ Biosecurity ให้กับเกษตรกรในคอนแทรคฟาร์มของบริษัททั่วประเทศครบทุกราย จึงมั่นใจได้ว่าหมูของซีพีเอฟ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล เลี้ยงหมูอย่างใส่ใจ ให้อยู่สบาย การเลี้ยงหมูของบริษัทจะถูกเลี้ยงดูอย่างดี ในโรงเรือนระบบปิดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ สภาพอากาศ ความชื้น ให้เหมาะสมกับสุกรแต่ละช่วงวัย รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูสัตว์ที่สอดคล้องตามหลักอิสระ 5 ประการ (Five Freedom of Animal Welfare) ช่วยให้หมูมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด ไม่ป่วย อันได้แก่ 1. ปราศจากความหิวและกระหาย 2. ปราศจากความไม่สะดวกสบาย 3. ปราศจากความเจ็บปวด บาดเจ็บ และโรคภัย 4. มีอิสระที่จะแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติและ 5. ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน เพื่อให้หมูที่เลี้ยงสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ Green Farm อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเลี้ยง ตั้งแต่ การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด , การใช้ระบบไบโอแก๊ส ช่วยบำบัดของเสียจากการเลี้ยง ที่ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งนำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในฟาร์ม , ระบบการฟอกอากาศท้ายโรงเรือน กำจัดกลิ่นและแมลงวันที่จะไปรบกวนชุมชน , การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการปรับฟาร์มให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม นอกจากนี้ ฟาร์มสุกรของบริษัทยังมีการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพส่งให้ชุมชนโดยรอบ เพื่อนำไปใช้เพื่อการเกษตร เป็นการบรรเทาผลกระทบจากช่วยชุมชนและเกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

ฟาร์มหมู ซีพีเอฟ อยู่สบาย สไตล์รีสอร์ท Read More »

หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน : ข้าวโพดยั่งยืน

หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน : ข้าวโพดยั่งยืน    ที่ผ่านมาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มักตกเป็นจำเลยสังคม โดยเฉพาะการรุกพื้นที่ป่า ขณะที่ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านเรายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ…ต้องนำเข้ากว่า 90% เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ รวมถึงมิให้ชาวไร่ข้าวโพดรุกพื้นที่ป่า อันจะส่งผลต่อการกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ ปี 2559 เทศบาลตำบลบัลลังก์ จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ในรูปแบบ “บัลลังก์โมเดล” ให้เป็นต้นแบบการยกระดับศักยภาพกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นำความรู้และเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ สามารถรับมือกับความเสี่ยง ทั้งภัยแล้ง โรคระบาดได้ ขณะเดียวกันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยั่งยืน ผลผลิตเพิ่ม และคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้ที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจน และการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการเผาตอซัง สำหรับปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มในส่วนของแอปพลิเคชัน สำหรับการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวและขนส่งร่วมกันของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบัลลังก์และใกล้เคียง เน้นการใช้รถเกี่ยวและรถขนส่งในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ระหว่างคนในชุมชน พร้อมกับส่งเสริมการใช้…เกษตรกรรายใดเรียกใช้รถตัด รถขนส่ง ผ่านแอปพลิเคชันนี้ เพื่อนำผลผลิตมาขายให้โรงอาหารสัตว์ซีพีเอฟโดยตรง จะได้บวกเงินรับซื้อผลผลิตเพิ่มอีก กก.ละ 10 สตางค์ นอกจากยกระดับมาตรฐานการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบย้อนกลับ และยิ่งตอกย้ำให้ตลาดต่างประเทศรับรู้ ไทยไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ผิดกฎหมายหรือรุกป่า “บัลลังก์โมเดล” นับเป็นพื้นที่แห่งแรกของไทย ที่ผนึกพลังภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ช่วยยกระดับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยแบบครบวงจร ตั้งแต่ปลูกจนถึงตลาด และผลจากการทำมาเป็นปีที่ 4 จากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 184 คน พื้นที่ปลูก 4,700 ไร่ ขยายสู่ 814 ครอบครัว พื้นที่รวม 18,000 ไร่.

หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน : ข้าวโพดยั่งยืน Read More »

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)