เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตคนโคนม สานต่ออาชีพพระราชทาน

   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ด้วยโครงการธนาคารโคนมทดแทนฝูง ช่วยให้มีความอุดมสมบูรณ์พันธุ์ สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค การผลิตน้ำนมดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ น้ำนมมีคุณภาพสูง ช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดี พร้อมรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้น ด้วยการจัดตั้งโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน หลังให้เยาวชนรุ่นใหม่และบุตรหลานเกษตรกรกลับมาให้ความสนใจการทำอาชีพการเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น และพึ่งพาตนเองได้   คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการจัดตั้งโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ว่า จากการที่อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ได้สานต่อการพัฒนาอาชีพนี้ พร้อมร่วมส่งเสริมพัฒนาวงการโคนม และอุตสาหกรรมนมไทยมาอย่างต่อเนื่อง    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมากและก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพลดลง ขณะที่เยาวชนรุ่นใหม่และบุตรหลานเกษตรกรได้ให้ความสนใจเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้การสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากบรรพบุรุษมีแนวโน้มลดลง ซึ่งการเลี้ยงโคนมก็เป็นหนึ่งอาชีพที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นกัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะองค์กรหลักที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องกำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและเกิดความยั่งยืนต่อไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตลาด โดยพยายามให้นมของ อ.ส.ค. ส่งไปได้ทั่วโลก และพยายามทำให้เป็นฮาลาลด้วย โดยต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามบทบัญญัติของโลก เพื่อหาช่องทางในการส่งออกไปตลาดโลกที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น    จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงงานนมเชียงใหม่ที่ อ.ส.ค. ได้ขยายกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โดยนำไปปรับปรุงในส่วนของโรงงาน ระบบการผลิต และเครื่องจักรใหม่ ปัจุบันการผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ที่โรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้รองรับปริมาณน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบภาคเหนือมีปริมาณเพียงพอและมีมากกว่ากำลังการผลิตเดิมที่เคยผลิตได้ 15 ตัน/วัน ขยายเป็น 30 ตัน/วัน     จึงทำให้ อ.ส.ค. สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อกำลังการผลิตนมพาสจอร์ไรส์สูงขึ้น จะสามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดเชิงรุกให้แก่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่สามารถกระจายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ให้เข้าถึงและทั่วพื้นที่ภาคหนือ รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นมพาสจอร์ไรส์ไทย-เดนมาร์ค ยังมีการวางแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ตลอดจนร้านนมต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย     ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) ที่มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มอบหมายให้มาขับเคลื่อนนโยบายเพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรโคนมให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่คาดว่าจะเกินความต้องการในปี 2563 จึงได้มอบหมายองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 1) การจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่ดำเนินการโดย อ.ส.ค. เพื่อรองรับผลผลิตน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ และ 2) การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร ที่ประกอบด้วย ศูนย์ Feed Center เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารโคนมในราคาต้นทุนต่ำ ศูนย์เลี้ยงโคนมทดแทน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการนำโคทดแทนมาเลี้ยงยังศูนย์แทน ตามข้อจำกัดด้านแรงงาน สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพของครอบครัว และการสร้าง Smart Farm เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านกิจการโคนมระดับนานาชาติ สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง” โดยมีที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา (นายวิเชียร ผลวัฒนสุข) เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโครงการบริเวณเดียวกัน การศึกษาทบทวนโครงการพร้อมออกแบบโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมฯ อีกทั้งยังได้มีการรับมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. เมื่อวันที 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ที่เป็นฐานการผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญและคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม 18 สหกรณ์ บริษัทเอกชน 4 แห่ง โรงงานนม 5 แห่ง มีเกษตรกรรวม 1,403 ราย จำนวนประชากรโดนมทั้งหมด 64,147 ตัว และมีปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ 8,990 ตันต่อเดือน หรือ 299.7 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มปริมาณน้ำนมดิบของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปีในปี 2559 เฉลี่ย 350 ตันต่อวัน โดยมีอัตราการเติบโตของน้ำนมดิบปริมาณในปี 2558 และ 2559 ประมาณ 5 – 6 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าในปี 2563 จะมีปริมาณน้ำนมดิบประมาณ 400 ตันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในปี 2560 ให้สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด ตามโครงการพัฒนาการดำเนินธุรกิจและสินค้าของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ภายใต้การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและการตลาดภายใต้ห่วงโซ่การผลิตนมทั้งระบบ จำนวน 5.950 ล้านบาท เพื่อการดำเนินการโครงการธนาคารโคนมทดแทนฝูง เพื่อรับฝากลูกโคเพศเมีย และถอนคืนเป็นโคสาวท้อง เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกลดภาระการเลี้ยงลูกโคในฟาร์ม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการจัดการด้านอาหารที่เหมาะกับโคตามช่วงวัย ให้เกษตรกรสมาชิกมีแม่โคที่มีคุณภาพไปทดแทนโคนมปลดระวาง และลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ 2561 ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2.934 ล้านบาท ในโครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้กับสถาบันเกษตรกรเพื่อให้บริการแก่สมาชิก 2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสถาบันเกษตรกรในการบริหารจัดการ และอำนวยความสะดวกในการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแก่สมาชิก โดยจัดหาอุปกรณ์พร้อมเครื่องผลิตอาหาร TMR ให้แก่ลูกโคสาวในโครงการธนาคารโคนมทดแทนฝูง การดำเนินการของสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้จากการขาย/ฝากลูกโคให้แก่ธนาคาร เฉลี่ยตัวละ 18,388 บาท โคที่นำมาฝากธนาคารให้น้ำนมเร็วขึ้น 105 วัน ๆ ละ 14 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละละ 18 บาท เป็นเงิน 26,460 บาท มีรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมวันละ 14 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 18 บาท ระยะเวลา 200 วัน เป็นเงิน 50,400 บาท รวมรายรับทั้งสิ้น 95,248 บาท สูงกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงโคในฟาร์มของตนเองถึง 14,368 บาท และในด้านของรายจ่าย เกษตรกรสมาชิกมีรายจ่ายจากการถอนคืนโคสาวท้อง 5 เดือน จากธนาคารโคในราคาเฉลี่ย 45,114 บาทต่อตัว เลี้ยงต่ออีก 4 เดือน มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 8,197 บาท รวมค่าใช้จ่าย 53,311 บาทต่อตัว ซึ่งหากเปรียบเทียบการเลี้ยงโคในฟาร์มของเกษตรกรจนถึงผสมเทียมแล้วคลอด รวม 30 เดือน เกษตรกรจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 60,000 บาทต่อตัว จะเห็นว่าสมาชิกที่นำโคมาฝากเลี้ยงในธนาคาร มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงโคในฟาร์มตนเองถึง 6,689 บาทต่อตัว อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเลี้ยงโคในธนาคารโคนมทดแทนฝูง ทำให้โคมีความอุดมสมบูรณ์พันธุ์ สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค การผลิตน้ำนมดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ น้ำนมมีคุณภาพสูง และน้ำนมที่ได้มีคุณภาพ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีตามไปด้วย ทั้งนี้ สหกรณ์โคนมลําพูน จํากัด ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ แปลงใหญ่โคนมตำบลห้วยยาบ ในปี 2561 มีจำนวนประชากรโคทั้งหมด 4,796 ตัว ประกอบด้วย โครีดนม 1,915 ตัว ปริมาณน้ำนมเฉลี่ย 12 – 13.05 กิโลกรัม/ตัว/วัน มีสมาชิกที่ส่งน้ำนมดิบให้สหกรณ์ จำนวน 91 ราย ได้รับมาตรฐานฟาร์ม (GAP) จำนวน 72 ราย สหกรณ์จะดำเนินการทำมาตรฐานฟาร์มให้แล้วเสร็จภายใน 30 เมษายน 2563 ปริมาณน้ำนมดิบที่รวบรวมได้ 23 – 25 ตัน/วัน สหกรณ์มีการทำ MOU ที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ในปี 2562 – 2563 จำนวน 24.208 ตัน/วัน ได้แก่ บริษัทแดรีพลัส จำกัด 20 ตัน/วัน บริษัทซีพี เมจิ จำกัด 2.208 ตัน/วัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือตอนล่าง (อ.ส.ค.) สุโขทัย 2 ตัน/วัน   รายการแนะนำ

เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตคนโคนม สานต่ออาชีพพระราชทาน Read More »