อาหารโค

ถุงน้ำในรังไข่ ปัญหาใหญ่ชาววัวนม

ขอนำเกษตรกรทุกท่านมารู้จักกับปัญหา “ถุงน้ำในรังไข่” เพราะ “ปัญหาการผสมไม่ติด”ถือเป็น 1 ใน 3 ปัญหาหลักสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นอกเหนือไปจาก..ปัญหาเต้านมอักเสบ..และ..ปัญหาเรื่องกีบ.. ปัญหาถุงน้ำในรังไข่ดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาผสมไม่ติด ซึ่งอาการที่วัวแสดงออกนั้น อาจจะเป็น 1) การเป็นสัดถี่หรือเป็นสัดไม่ตรงรอบ (ประมาณ 20-30%) ซึ่งหากเป็นอาการแบบแรกเกษตรกรจะสังเกตเห็นเอง ตามหมอมาล้วงตรวจรังไข่ และทำการรักษาต่อไป 2) ไม่แสดงการเป็นสัดให้เห็น (ประมาณ 70-80%) แต่ถ้าเป็นแบบนี้ เกษตรกรอาจจะรู้ตัวช้าและเข้าใจว่าเกิดการจับสัดพลาดและปล่อยผ่านไปซึ่งนั่นจะทำให้เกิด..วัวกินอาหารฟรี..ภายในฟาร์ม ซึ่งเกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหารมากขึ้นนั่นเอง เรื่องนี้ยิ่งรู้ช้ายิ่งขาดทุน! ถุงน้ำในรังไข่คืออะไร ??? สัตว์แสดงอาการอย่างไร ??? ถุงน้ำในรังไข่ คือถุงน้ำซึ่งเกิดขึ้นบนรังไข่ “ มีขนาดใหญ่กว่า 25 มิลลิเมตร ” (ไข่ก่อนการตกไข่ ปกติขนาดประมาณ 15-25 มิลลิเมตร) และมีการคงค้างมากกว่า 10 วัน มักเกิดหลังคลอด ซึ่งเรามักจะมองว่าเป็นปัญหา เมื่อไม่เห็นการเป็นสัดนานกว่า 6 อาทิตย์หลังคลอด หรือแสดงการเป็นสัดถี่ไม่ตรงรอบชัดเจน โดยปกติถุงน้ำนี้จะมีสองประเภท คือ 1) ถุงน้ำผนังบาง หรือ “ซีสต์น้ำ” สัตว์อาจแสดงอาการเป็นสัดถี่ หรือไม่แสดงอาการเป็นสัดก็ได้ 2) ถุงน้ำผนังหนา หรือ “ซีสต์เนื้อ” สัตว์มักไม่แสดงอาการเป็นสัด ทั้งนี้การแยกประเภทของถุงน้ำสามารถยืนยันได้ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ แต่หากไม่มีใช้ในพื้นที่ก็จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของผู้ตรวจสอบโดยการคลำรังไข่ผ่านทางทวาร เกิดในวัวได้อย่างไร ???         สาเหตุของถุงน้ำในรังไข่ยังคงไม่เป็นที่เข้าใจดี แต่พบว่าสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้, มักพบปัญหาในแม่วัวให้นมมาก, เป็นในแม่วัวหลายท้อง, หรือแม่โคได้รับสารพิษจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร (ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์), แม่วัวที่มีภาวะขาดพลังงานหลังคลอด, แม่วัวที่มีภาวะคลอดยากและเกิดมีโรคหลังคลอดอื่นๆตามมา การแก้ไขปัญหาและการป้องกัน ปัญหาถุงน้ำในรังไข่ที่พบ โดยปกติร่างกายแม่วัวจะปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนและทำให้ถุงน้ำที่เกิดนั้นฝ่อสลายไปได้โดยเราไม่ต้องทำอะไร  โดยเฉพาะหากเราพบปัญหาก่อนการตกไข่ครั้งแรก ประมาณ 60% ถุงน้ำนั้นจะฝ่อสลายเอง แต่หากเราพบปัญหาหลังการตกไข่ ครั้งที่  2, 3, หรือต่อๆไป โอกาสที่ถุงน้ำนั้นจะฝ่อสลายเองมีเพียง 20% จึงจำเป็นต้องอาศัยการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน..  โดยใช้ฮอร์โมน GnRH (ชื่อการค้า : เฟอร์ตากิล) แล้วตามด้วยฮอร์โมน PGF2α (ชื่อการค้า : ลูทาไลท์ ,เอสตรูเมท) ใน 10 – 14 วัน ภายหลังฮอร์โมน GnRH ก่อนการใช้ฮอร์โมน สัตว์ควรได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ก่อน เพราะหากวินิจฉัยแยกชนิดของถุงน้ำที่พบได้ จะประหยัดค่าฮอร์โมนที่ใช้ (ใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง) และเป็นการตรวจสุขภาพอื่นๆยืนยันว่าแม่วัวไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน      ระวัง “วิธีการบีบให้แตก”.!!!..ปัจจุบันไม่นิยมให้ทำการบีบให้แตกโดยการล้วงผ่านทางทวารหนักเพราะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเลือดออก มีรอยแผลบนรังไข่ อาจส่งผลทำให้การเจริญหรือการตกไข่ในวงรอบต่อไปไม่สมบูรณ์และเนื่องจากสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้นการจัดการอาหารที่ถูกต้องให้มีความสมดุลทั้งในแง่ของพลังงาน โปรตีนและแร่ธาตุตามปริมาณการให้น้ำนมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่วัว  ตลอดจนการป้องกันการเกิดโรคหลังคลอดต่างๆ ก็จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้การจับสัดที่ดี มีโปรแกรมการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์เป็นประจำ เช่น ล้วงตรวจมดลูกหลังคลอด 30 วัน, ล้วงตรวจวัวที่ไม่เห็นการเป็นสัดใน 60 วันหลังคลอด ก็จะช่วยให้สามารถระบุปัญหาต่างๆได้ไว ยิ่งขึ้นด้วย

ถุงน้ำในรังไข่ ปัญหาใหญ่ชาววัวนม Read More »

ตอบคำถามโรคปากและเท้าเปื่อย

ตอบคำถาม โรคปากและเท้าเปื่อย 1 ทำวัคซีนแล้ว แต่ทำไมวัวยังเป็นโรคปากเท้าเปื่อยอีก ความล้มเหลวในการทำวัคซีนเกิดได้จาก 3 ปัจจัย คือ ตัวสัตว์ วัคซีน และผู้ฉีดวัคซีน ตัวสัตว์ : อาจเกิดจากขณะทำการฉีดสัตว์ไม่พร้อมต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น สัตว์เครียดจากความร้อน หรือสัตว์ป่วย หรืออาจเกิดจากสัตว์ได้รับเชื้อขณะที่ภูมิคุ้มกันยังไม่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับป้องกันโรค หรือภูมิจากวัคซีนที่ฉีดกำลังหมดลง วัคซีน : อาจเกิดจากการเก็บรักษา หรือการขนส่งที่ไม่ดี หรือวัคซีนที่ฉีดนั้นมีเชื้อไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาด ผู้ฉีดวัคซีน : ผู้ฉีดวัคซีนอาจฉีดไม่ถูกต้อง หรือฉีดไม่ครบโดส 2 มีวัวฟาร์มข้างๆ เป็นโรคปากเท้าเปื่อยแล้วจะทำวัคซีนดีไหม เมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ ให้ทำวัคซีนไทป์เดียวที่กำลังระบาด หากเพิ่งทำการฉีดวัคซีนไทป์รวมไป ให้ฉีดวัคซีนไทป์เดียวตามภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า วัคซีนอาจป้องกันให้สัตว์ไม่แสดงอาการของโรคหรือแสดงอาการไม่รุนแรง แต่สัตว์ตัวนั้นๆอาจมีการติดเชื้อภายในร่างกาย 3 วัวเป็นปากเท้าเปื่อยแล้ว แยกรีดแล้วนมตัวอื่นยังส่งนมได้ไหม ไม่ได้ เนื่องจากในฟาร์มที่มีวัวเป็นปากเท้าเปื่อย จะมีวัวส่วนหนึ่งที่มีเชื้อปากเท้าเปื่อย แต่ยังไม่แสดงอาการป่วย วัวเหล่านั้นสามารถ แพร่เชื้อออกจากร่างกาย และกระจายไปสู่ฟาร์มอื่น ทำให้เกิดการระบาดเป็นบริเวณกว้าง 4 ควรเลือกฉีดวัคซีนไทป์รวม หรือไทป์เดียว ขึ้นกับจุดประสงค์ของการทำวัคซีนคือ “วัคซีนไทป์เดียว” ใช้สำหรับการควบคุมการระบาดของโรค ในขณะที่ วัคซีนไทป์รวมใช้สำหรับการป้องกันโรค กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค ควรทำวัคซีนตามคำแนะนำของสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ คือทำวัคซีนไทป์เดียว และตามด้วยวัคซีนไทป์รวม ใน 2 สัปดาห์ถัดมา เพื่อให้วัวมีภูมิคุ้มกันต่อโรคปากเท้าเปื่อย กรณีที่ทำวัคซีนตามโปรแกรมของฟาร์ม ก็ควรใช้ วัคซีนไทป์รวม เพื่อให้โคมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อทุกสายพันธุ์ โดยไม่ต้องใช้วัคซีนไทป์เดียว 5 ทำไม่เวลาเป็นปากเท้าเปื่อยถึงไม่เป็นทุกตัว ทั้งนี้ขึ้นกับภูมิคุ้มกันของตัวโคแต่ละตัวในขณะที่ได้รับเชื้อ โคในฝูงเดียวกันอาจมีการเพิ่มขึ้น คงระดับ หรือลดลงของภูมิคุ้มกันได้มากน้อย และช้าเร็วแตกต่างกัน 6 การโรยปูนขาวช่วยอะไร ในพื้นที่ที่เป็นปากและเท้าเปื่อย ปูนขาว(CaO) มีจุดเด่นคือเป็นสารฆ่าเชื้อราคาถูกและ เมื่อโดนความชื้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นด่างซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้ 7 หากที่ฟาร์มเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยขึ้นแล้วและหายจากโรคแล้ว ยังต้องทำวัคซีนอีกไหม ควรทำ เนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่ป้องกันข้าม serotype แม้สัตว์จะมีภูมิภายหลังการเกิดโรค แต่สัตว์อาจได้รับเชื้อ serotype อื่นได้อีก 8 ฉีดใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้ากล้ามแตกต่างกันอย่างไร การฉีดเข้าใต้ผิวหนังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด 9 วัคซีนปากและเท้าเปื่อยทำแล้วแท้งลูกไหม ผลข้างเคียงของโรค ปากและเท้าเปื่อยไม่ได้ทำให้เกิดการแท้ง   การแท้งมักเกิดจากความเครียดเมื่อสัตว์ถูกจับบังคับ แต่วัคซีนอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ฉะนั้นภายหลังการฉีดวัคซีนควรเฝ้าดูอาการของโค ใน 6 ชั่วโมงภายหลังการฉีด  

ตอบคำถามโรคปากและเท้าเปื่อย Read More »

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)