นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นวันที่ 10 พ.ย. 64 แถลงยืนยันผ่านเว็บไซต์พบไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง เป็นครั้งแรกในฤดูหนาวปีนี้ ในฟาร์มสัตว์ปีกในเมืองโยโกเตะ จังหวัดอากิตะ และได้ทำลายไก่ไข่ไปแล้วกว่า 143,000 ตัว พร้อมทั้งยืนยันการพบไข้หวัดนกรอบนี้ยังไม่ระบาดสู่คน อีกทั้งองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการระบาดมากถึง 4,122 จุด รวมถึงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบในสายพันธุ์ H5N1 H5N6 และ H5N8 กอปรกับประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ระดับภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ สั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ได้แก่ พื้นที่นกอพยพอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่นเป็นต้น ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 096-301-1946 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลาอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด ที่มา : กรมปศุสัตว์