Logo-CPF-small-65png

รอบรู้เรื่องอาหารปลอดภัย: ไข่ไก่ปลอดภัย “ล้าง คัด บรรจุ” ด้วยระบบมาตรฐาน

“ไข่ไก่” อาหารยอดฮิตของผู้บริโภค โปรตีนคุณภาพที่หาซื้อ ได้ง่าย ราคาไม่แพง คุณค่าทางโภชนาการสูง นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อทุกเพศและทุกวัย ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตไข่ไก่สด ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ไข่ที่สะอาดและปลอดภัย และยังต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งเน้นมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ ผู้บริโภคมั่นใจในความสะอาดและถูกสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ซีพี ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานในทุกขั้นตอน แม่ไก่ไข่ได้รับการ คัดเลือกพันธุ์ที่ดี เลี้ยงในฟาร์มระบบปิด เลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไข่ไก่ เป็นระบบอัตโนมัติ และนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาใช้ เช่น การล้างไข่ไก่ การคัดไข่ไก่ การบรรจุ กระบวนการล้างไข่ไก่ในห้องล้างไข่ เน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่การรับไข่เข้ามาในห้องล้างไข่ นำไข่ไปผ่านเครื่องล้างที่มีแปรงขัดผิวเปลือกไข่ เพื่อทำความสะอาดไข่ที่เปื้อนมูลและฝุ่น ผ่านขั้นตอนการฉีดล้างด้วยสเปรย์น้ำอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด ก่อนนำเข้าเครื่องเป่าแห้ง จากนั้นนำไข่มาคัดแยกไข่ที่ยังล้างไม่สะอาดออก เช่น ยังเหลือมูลติดอยู่ รวมทั้งไข่ที่ผิดรูป ไม่ได้มาตรฐาน หรือสีเปลือกไข่ซีดกว่าปกติ ไข่ที่ผ่านการคัดแยกแล้วนำไปผ่านเครื่องทดสอบรอยร้าวว่ามีรอยร้าวหรือไม่ ถ้าพบว่ามีรอยร้าวก็จะคัดออก กระบวนการต่อไป คือ นำไข่ที่ผ่านเครื่องทดสอบรอยร้าวแล้ว ผ่านหลอดยูวี ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อซาโมเนลลา นำมาชั่งน้ำหนักตามเบอร์ไข่ เพื่อที่จะคัดแยกตามเบอร์ต่างๆ ตามประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตรไข่ไก่ ของกรมปศุสัตว์ เมื่อนำผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ไปชั่งน้ำหนักแล้ว จะผ่านเครื่องตรวจสอบความผิดปกติ หรือ Abnormal Eggs Detector จะช่วยคัดฟองไข่ มีจุดเลือด หรือจุดเนื้อ เพื่อคัดออก และตรวจสอบไปถึงว่าในไข่แต่ละฟอง มีทั้งไข่ขาวและไข่แดง เพื่อคัดไข่ที่เน่าเสียออก ผ่านเครื่องพิมพ์ตัวอักษร บนฟองไข่ พิมพ์เลขล็อตผลิต เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการบรรจุบนแพ็กแต่ละขนาดเตรียมจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ซึ่งบนสลากสินค้ามีข้อมูลอย่างครบถ้วน ที่สำคัญมีวันผลิตและวันควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน นอกจากความเข้มงวดในกระบวนการล้างไข่ไก่แล้ว พนักงานที่จะเข้าในไลน์การผลิต ต้องปฏิบัติตามสุขลักษณะเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย โดยสวมรองเท้าบู๊ท ล้างมือที่อ่างล้างมือ เช็ดมือให้แห้ง สวมหมวก และผ้าปิดปาก สวมเสื้อคลุม ถุงมือ จุ่มรองเท้าบู๊ทในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณมือทุกครั้ง ในห้องผลิตและจัดเก็บสินค้า มีการควบคุมอุณหภูมิที่ 20-25 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ซีพีที่ผ่านกระบวนการผลิต จะถูกส่งมาที่ห้องจัดเก็บสินค้า ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิที่ 20 -25 องศาเซลเซียส เพื่อเก็บผลิตภัณฑ์ไข่ที่เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ และควบคุมอุณหภูมิที่ 2 -10 องศาเซลเซียส สำหรับผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ที่เป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดแบรนด์ซีพี ยังเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานระดับโลก อาทิ GMP HACCP ISO ไม่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อน ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความสะอาดและปลอดภัย ที่มา : www.cp-enews.com

รอบรู้เรื่องอาหารปลอดภัย: ไข่ไก่ปลอดภัย “ล้าง คัด บรรจุ” ด้วยระบบมาตรฐาน Read More »

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค ข้อมูลในเชิงวิชาการพบว่าโรคระบาด ASF ที่พบได้ทุกประเทศทั่วโลก มักเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือผู้เลี้ยงหมูที่ไม่มีระบบการป้องกันโรคทีดีก่อนเสมอ  ดังได้กล่าวแล้วในบทความที่ 1 ดังนั้นหากมีคำถามว่าในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมูของประเทศ พวกเราจะช่วยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ปลอดภัยได้อย่างไร เพราะเมื่อมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยติดโรค ความเสี่ยงก็จะเกิดกับผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในเมื่อเราท่านทราบดีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเหล่านั้นล้วนขาดความพร้อมทั้งด้าน การเข้าถึงข้อมูล งบประมาณ และองค์ประกอบพื้นฐานด้านการป้องกันโรค จากคำถามที่ท้าทายแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางออก เพียงแต่ทางออกนั้นต้องอาศัยผู้เลี้ยงหมูมีความพร้อมมากกว่า หรือผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจหมู เขาไปให้ความช่วยเหลือตามแนวทางดังนี้ เริ่มต้นจากต้องผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟาร์มหมูต้องร่วมกันไปให้องค์ความรู้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้ทำในสิ่งที่ตัวตัวผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเองทำได้เป็นเบื้องต้นด้านการป้องกันโรค ในเรื่องต่อไปนี้ ไม่ใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเลี้ยงหมู เพราะเศษอาหารเหล่านี้อาจมีเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคหรือหากจำเป็นต้องใช้ต้องต้มให้เดือดอย่างน้อย 30 นาที เมื่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อยออกไปทำธุระภายนอกฟาร์ม ก่อนเข้ามาเลี้ยงหมูต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า ก่อนเสมอ ไม่ให้คนภายนอกเข้าเล้าหมูตนเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าซื้อหมู โดยอาจเจรจาตกลงซื้อขายด้วยแอบปิเคชั่นบนมือถือ ไม่ให้รถรับซื้อหมูและคนซื้อหมูเข้ามาถึงในเล้าโดยอาจใช้วิธีการต้อนหมูให้ห่างจากเล้าเพื่อไปขึ้นรถจับหมูโดยเจ้าของเล้าต้องไม่ไปสัมผัสกับรถที่มาซื้อหมู ไม่ซื้อหมูจากพื้นที่มีความเสี่ยงจากโรคระบาดเข้ามาเลี้ยง อีกทั้งไม่ซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากภายนอกมาบริโภคในฟาร์ม งดการขายมูลหมูจากรถรับซื้อที่ไปรับซื้อมูลจากหลายๆ ฟาร์มในช่วงเวลาการระบาดของโรค ระมัดระวังการไปซื้อหัวอาหาร เช่น รำ และปลายข้าว จากโรงสีที่ทำธุรกิจเลี้ยงหมูในกรณีที่ฟาร์มและโรงสีอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะหัวอาหารเหล่านั้นอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ หรืออาจติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอื่นที่เข้าไปรับซื้อหัวอาหารจากแหล่งเดียวกัน แจ้งปศุสัตว์ทันทีหากมีหมูตายเฉียบพลันหรือป่วยด้วยอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง และห้ามขายหมูป่วยและตายออกออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาดหากยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันโรค ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมู ควรให้ความช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในการป้องกันโรคและควบคุมเพื่อลดการแพร่กระจายโรคในพื้นที่ต่างๆ  ได้ดังนี้ ผู้ประกอบการเลี้ยงหมูทุกรายที่มีหมูแสดงอาการที่ต้องสังสัยว่าติดโรค เช่นมีอาการไข้สูง ไอ แท้ง ขาหลังไม่มีแรง นอนสุมและท้องเสียเป็นเลือด มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู ท้อง และขาหลัง หรือมีหมูตายฉัยบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ และตรวจสอบยืนยันพบว่าหมูติดโรค ต้องไม่ขายหมูออกจากฟาร์มเพื่อไปชำแหละโดยเด็ดขาด เพราะหมูที่ใกล้ชิดกับหมูป่วยอาจติดโรคไปแล้ว การขายหมูออกไปก็เท่ากับการแพร่เชื้อโรคไปตามที่ต่างๆ ผ่านทางเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู ท้ายสุดฟาร์มหมูอื่นๆ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อย หากเทียบโรคโควิด-19 การขายหมูที่ต้องสงสัยว่าติดโรคออกไป ก็คล้ายกับการปล่อยคนป่วยด้วยโควิด-19 ที่อาจแสดงอาการไม่รุนแรงแต่แพร่เชื้อได้ออกไปปะปนกับคนในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ปศุสัตว์จังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่ ควรติดตามให้ให้ผู้เลี้ยงรายย่อยจนทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ในระบบ E-Smart Plus ให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและการให้ข้อมูลเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการติดตามการแพร่ระบาดของโรค นอกจากกนี้ต้องจดทะเบียนผู้ขนส่งสุกรทุกรายร่วมด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายโรค และควรให้ข้อมูลการป้องกันและควบคุมโรคกับบุคลากรผู้ขนส่งหมูเหล่านี้ เช่นกัน ปศุสัตว์ในแต่ละเขตพื้นที่จะมีโปรแกรมสุ่มตรวจโรค ในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้ง โรงชำแหละหมู จุดจำหน่ายเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอและควรแจ้งผลการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค โดยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็ควรให้ความร่วมมือ เพื่อให้ฟาร์มทั่วไปตระหนักว่าหากมีเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่แล้วต้องระวังให้มากขึ้น หากผู้เลี้ยงรายใดทราบว่าถ้าตนไปสัมผัสกับแหล่งที่ให้ผลบวก ก็ต้องเฝ้าระวังก่อนกลับเข้าฟาร์ม ผู้ขายอาหารให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหรือโรงงานอาหารสัตว์ควรหามาตรการส่งอาหารให้เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตฟาร์ม เพราะการที่ผู้ขนส่งอาหารไปส่งอาหารในหลายๆ ฟาร์ม อาจพลาดขับรถเข้าไปในฟาร์มที่เป็นโรคโดยไม่ทราบ ดังนั้นหากปล่อยให้เขาเหล่านี้ ขับรถเข้ามาในพื้นที่ฟาร์มโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม รถคันนั้นอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาแพร่สู่ฟาร์มได้ ดังนั้นการลงอาหารให้นอกพื้นที่ฟาร์ม ก็จะเป็นการลดการสัมผัสเชื้อโรคอีกช่องทางหนึ่ง ผู้รับซื้อหมูจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องนำรถขนส่งไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดที่ปศุสัตว์หรือสมาคมผู้เลี้ยงหมูกำหนดไว้ให้ และรับบัตรยืนยันการล้างฆ่าเชื้อก่อนนำรถไปรับซื้อหมูที่ฟาร์มต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อโรคให้ผู้เลี้ยงรายย่อย และผู้เลี้ยงหมูก็ไม่ควรไปสัมผัสรถคันนี้ อาจทำทางเดินหมูเพื่อต้อนหมูให้ห่างออกมาจากเล้า แล้วให้คนมารับซื้อจับหมูไปแบบเจ้าของเล้าไม่สัมผัสกับคนมารับซื้อหมูและรถขนส่งหมู และทุกครั้งที่ผู้เลี้ยงหมูคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ให้อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนเข้าเล้าไปเลี้ยงหมูในเล้าเสมอ ซึ่งปกติดขั้นตอนนี้จะปฏิบัติกันอย่างจริงจังในฟาร์มขนาดใหญ่ แม้กระทั้งการสร้างเล้าขายกลาง เพื่อป้องกันรถขนส่งจากภายนอกที่มีความเสี่ยงเข้าไปถึงฟาร์ม และที่สำคัญคนที่ทำงานในฟาร์มก็ไม่มีโอกาสมาสัมผัสรถที่มีความเสี่ยงจากภายนอก โดยจะนำรถที่สะอาดผ่านการพ่นยาฆ่าเชื้อขนส่งหมูมาที่เล้าขายกลาง และส่งหมูในจุดที่แยกกับที่รถภายนอกที่มารับซื้อหมู ผู้ขายพันธุ์สัตว์ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยต้องมั่นใจว่าฟาร์มตนเองปลอดจากโรค โดยการสุ่มตรวจสุขภาพหมูในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ช่วงใดที่พบว่าฟาร์มตนเองมีหมูตายผิดปกติ ก็ควรหยุดการขายหมูพันธุ์ชั่วคราวและตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดจากโรค เพระต้องระลึกเสมอว่าผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะไม่มีเล้ารับสุกรทดแทนที่ฟาร์มใหญ่ๆ มักจะมีกันที่เรียกกว่าเล้ากักโรค เพื่อใช้ตรวจสอบก่อนว่าหมูที่รับมาปลอดโรคก่อนนำเข้าไปรวมฝูง ส่วนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมักไม่มีเล้ากักโรค ดังนั้การทดแทนหมูทุกครั้งก็จะมีความเสี่ยงที่อาจรับโรคใหม่ ๆ เข้าฝูง ดังนั้นผู้ขายหมูพันธุ์ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจึงต้องให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้ ผู้ให้บริการรถขนส่งหมูไปยังต่างพื้นที่ หรือขนส่งหมูเพื่อการส่งออก หลังการขนส่งควรนำรถไปล้างฆ่าเชื้อตามจุดบริการของปศุสัตว์ในแต่ละพื้นที่ หรือที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงหมูหรือฟาร์มหมูจัดไว้ให้ โดยควรมีใบรับรองการล้างฆ่าเชื้อรถขนส่งก่อนไปรับหมูเที่ยวต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่ารถขนส่งคันนี้จะไม่เป็นตัวพาเชื้อโรคไปตามฟาร์มต่างๆ ฟาร์มหรือผู้ประกอบการที่ต้องส่งหมูทุกชนิดออกไปในทุกเขตพื้นที่ควรทำตามมาตรการการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ฟาร์มต้นทางมีหมูตายผิดสังเกตในช่วง 15 วันก่อนส่งก็ควรระงับการส่งออกหมูชั่วคราวเพื่อการตรวจสอบว่าฟาร์มปลอดจากโรค ควบคู่กับฟาร์มปลายทางก็ควรต้องมีเล้ากักโรคและตรวจสอบอีกครั้ง ผู้ประกอบการโรงชำแหละ ต้องจัดจุดล้างและพ้นยาฆ่าเชื้อไว้บริการสำหรับรถขนส่งหมูทุกคันที่ขนส่งหมูเข้ามาและออกจากโรงชำแหละ เพราะจุดนี้จะมีหมูจากหลายแหล่งมารวมกัน ถ้ามีหมูแหล่งใดป่วย เชื้อโรคอาจปนเปื้อนไปกับรถขนส่งที่จะไปรับหมูเที่ยวต่อไป และแพร่เชื้อสู่ฟาร์มหมูได้ ดังนั้นหลังการลงหมูทุกครั้ง รถที่จะออกจากโรงชำแหละจะต้องผ่านการล้างทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อให้มั่นใจว่ารถคันนี้จะปลอดเชื้อโรคก่อนขนส่งสุกรเที่ยวต่อไป ผู้ประกอบการฟาร์มหมูที่มีเล้าหมูมากกว่า 2 ขึ้นไป มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับซื้อหมูจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโรค นอกจากนั้น หลังรับหมูขุนเข้าเลี้ยงภายใน 15 วันแรก ควรแยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด เปรียบเสมือนเป็นการกักโรคเช่นเดียวกับกรณีสงสัยว่าคนในครอบครัวติดโควิด-19 ที่ต้องอยู่แยกห้องกัน โดยกรณี ASF ควรกักโรคแบบแยกเป็นระยะอย่างน้อย 15 วันตามระยะฝักโรค ซึ่งหากในช่วงเวลานี้มีหมูแสดงอาการตายเฉียบพลัน ซึ่งมักเป็นอาการเริ่มต้นของโรค จะต้องตรวจสอบยืนยันโรคเสมอ เพราะว่าหากพบโรคได้เร็วและยังใช้มาตรการกักโรคอยู่ หมูกลุ่มอื่นๆ ในฟาร์มอาจยังไม่ติดเชื้อ ซึ่งในทางวิชาการก็มีวิธีการตรวจสอบยืนยันการปลอดโรคได้เช่นกัน กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงหมูและผู้ประกอบการเลี้ยงหมู ควรทำแผนฉุกเฉินร่วมกันกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้างในผู้เลี้ยงรายย่อย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอัตรากำลังคน กำลังทรัพย์ และกำลังใจ เพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค จากมาตรการที่กล่าวมา หากได้นำไปปฏิบัติหรือดัดแปลงไปใช้ให้ตรงบริบทกับหน้างาน คงพอจะช่วยป้องกันและควบคุมโรค ได้ในระดับหนึ่ง อย่างที่ได้เรียนในบทความก่อนขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านตระหนักแต่อย่าถึงขนาดตระหนกจนทำให้ธุรกิจหมูในภาพรวมเดินต่อไปไม่ได้  ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะทำให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด” น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)   อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 2 : แนวทางป้องกันและควบคุมโรค Read More »

รวมพลังต้านภัย ASF

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค   ยังคงเป็นประเด็นร้อนในทุกประเทศของเอเชีย เกี่ยวกับโรค ASF บทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงการป้องกันโรคเพราะเชื่อมั่นว่ากลุ่มฟาร์มขนาดกลางและใหญ่ส่วนมากก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี สามารถป้องกันฟาร์มของตนเองจากโรคนี้ได้ ด้วยการใช้หลักการการป้องกันโรคทั่วไปของฟาร์ม จึงทำให้ฟาร์มมักรอดพ้นจากโรค ส่วนฟาร์มที่มักติดโรค ก่อนเสมอในแต่ละเขตพื้นที่ มักเป็นฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นฟาร์มที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดีและเพียงพอที่จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายรายที่อยากจะปรับปรุงพัฒนาระบบป้องกันโรคให้ได้เหมือนฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ก็ขาดเงินลงทุน ทำให้ขาดความพร้อมด้านโครงสร้างฟาร์มที่จะช่วยในการป้องกันโรค อย่างเช่น การก่อสร้างรั้วให้ได้มาตรฐานที่สามารถป้องกันสัตว์พาหะ หรือการทำโรงเรือนให้เป็นระบบปิดปรับอากาศหรือที่เรียกว่าอีแว็ป หรือมีมุ้งป้องกันแมลงวันที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากฟาร์มหมูที่ป่วย หรือการสร้างเล้าขายหมูที่แยกออกมาจากฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปรับซื้อหมูถึงหน้าเล้าและสัมผัสกับตัวหมูในฟาร์มโดยตรง หรือการไม่มีเงินที่จะขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อให้หมูบริโภค เลยต้องใช้น้ำผิวเดินที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากการที่มีผู้นำเอาหมูป่วยตายมาทิ้งลงแหล่งน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ จากปัญหาด้านงบลงทุนของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย จึงมักพบความเสี่ยงต่อการนำโรคเข้าฟาร์มคือ แหล่งวัตถุดิบของอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรและแหล่งรับการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์เร่ผสม กรณีความเสี่ยงจากวัตถุดิบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เศษอาหารจากครัวเรือนเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง หรือการใช้แหล่งอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ต้องไปซื้อหัวอาหารจากโรงสีที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่ที่เดียวกัน หรือไปซื้ออาหารจากร้านขายอาหารที่ทำธุรกิจชำแหละหมูร่วมด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีความเสี่ยงจากแหล่งพ่อพันธุ์ที่นำมาใช้ผสมพันธุ์ในฟาร์ม เกิดจากผู้เลี้ยงรายย่อยไม่มีเงินทุนพอที่จะเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้ใช้เองในฟาร์ม เลยต้องรับบริการผสมพันธุ์จากพ่อพันธุ์รถเร่ที่รับผสมพันธุ์ร่วมกกันจากหลายฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการติดโรคในสุกรของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ และที่สำคัญการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารโรคระบาดของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย อาจเข้าถึงได้น้อยกว่าผู้เลี้ยงรายกลางและใหญ่ ทำให้ไม่มีการเฝ้าระวังโรคจากฟาร์มข้างเคียงได้รวดเร็วพอ กว่าจะรู้ว่ามีหมูป่วยในพื้นที่ก็ปรากฏว่า โรคได้แพร่เข้าสู่ฟาร์มแล้ว ดังจากข่าวที่เราพบในต่างประเทศ เมื่อพบการเกิดโรคขึ้นจุดหนึ่ง พอตรวจประเมินฟาร์มที่อยู่ข้างเคียงก็มักจะพบหมูติดเชื้อไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบว่า ฟาร์มที่รับซื้อหมูไปเลี้ยงเกิดโรคขึ้นมา เมื่อตรวจสอบที่ฟาร์มต้นทางก็ปรากฏว่า มีการติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจประเมินเพื่อเฝ้าระวังโรคทั้งฟาร์มต้นทางและปลายทางจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อขายและเคลื่อนย้ายหมูในเขตพื้นที่เสี่ยง โรค ASF จะแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้จะต้องมีพาหะพาไป เชื้อโรคมักแพร่ไปกับตัวหมูจากการขนส่งหมูมีชีวิตที่สุขภาพยังปกติจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง  หรือเชื้อโรคแพร่ไปกับเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในตลาดที่เกิดจากการขายหมูที่ติดเชื้อโรคแล้วขายเข้าโรงชำแหละ หรือ เชื้อโรคติดมากับรถรับซื้อหมูที่อาจผ่านการขนส่งหมูป่วยโดยที่ไม่ทราบ หรือเชื้อโรคติดมากับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาด เป็นต้น จากรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศพบว่าในพื้นที่มักพบโรคระบาดเกิดขึ้นก่อน คือในผู้เลี้ยงหมูรายย่อย โดยความผิดพลาดที่พบคือการไม่ทราบว่าหมูเป็นโรคอะไรทำให้การทำลายหมูป่วยที่ติดโรคช้า เชื้อโรคจึงแพร่เชื้อไปในสิ่งแวดล้อม หรือการลักลอบเทขายหมูที่มีความเสี่ยงติดโรคโดยไม่รอการตรวจสอบยืนยัน การกระทำนี้จะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่ไปกับตัวหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ที่สามารถแพร่ไปได้ไกลจนกว่าจะมีใครมาสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วนำกลับเข้าฟาร์ม หรือฟาร์มบางรายอาจฝังทำลายหมูป่วยแบบไม่ถูกต้อง บ่อที่ฝังหมูอาจระเบิดจากแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักตามธรรมชาติ หรือมีน้ำหลืองหมูเยิ้มออกมาจากปากหลุมที่ปิดไม่สนิทหรือไม่หนาเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งล่อให้แมลงวันมาสัมผัส ฟักไข่ เกิดลูกหลานแมลงวันที่สามารถแพร่เชื้อโรคต่อไปได้ในฟาร์มบริเวณใกล้เคียง หรือการทิ้งซากหมูป่วยตายลงแหล่งน้ำ ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคแพร่ไปได้ไกลตามที่น้ำไหลไปถึงได้เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี ควรเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการฟาร์มหมูทั้งรายกลางและรายใหญ่ และฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และควรดำเนินการเป็นพื้นที่เช่น จังหวัด หรือเขตปศุสัตว์ เพราะถ้าทุกคนเข้าใจการแพร่โรค และเข้าใจการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง การแพร่กระจายของโรคก็จะลดลงและสามารถควบคุมโรคได้ในที่สุด แต่หากมีเพียงฟาร์มหมูรายใดรายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ความเสี่ยงจากการแพร่โรคในพื้นที่นั้นย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน และหากไม่สามารถหยุดยั้งโรคได้ การแพร่ระบาดโรคในวงกว้างก็อาจเกิดขึ้น ผลเสียก็ตกไปที่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลักการควบคุมโรค ASF นั้นอาศัยหลักการที่ว่า “รู้เร็ว จัดการเร็ว จบเร็ว”  ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่เข้าใจลักษณะของโรคอย่างลึกซึ้ง อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการควบคุมโรค อย่างเช่น คำว่า “รู้เร็ว” หรือ Early Detection ถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการควบคุมโรคเลยก็ว่าได้ โดยทางทฤษฏี คือการที่ทราบได้อย่างรวดเร็วว่าหมูในฟาร์มตัวแรกติดโรคแล้ว ถึงตรงนี้ก็จะต้องย้อนคิดด้วยว่าโรคนี้มีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5-15 วัน  ดังนั้นการตรวจพบหมูป่วยตัวแรก ก็แสดงว่าการติดเชื้อของฟาร์มนี้อาจเกิดขึ้นมาในช่วง 15 วันก่อนหน้านั้นแล้ว และโดยปกติหมูที่เริ่มป่วยมักมีอาการไม่ชัดเจน หากเราไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจหรือใช้เวลาตรวจสอบยืนยันนาน ก็จะส่งผลเสียเพราะโรคในฟาร์มอาจลุกลามจนยากจะแก้ไข ดังนั้นการตรวจสอบว่าหมูในฟาร์มป่วยให้ได้เร็วที่สุดจึงมีความจำเป็น และปกติการตรวจหมูที่สุขภาพดี มักจะไม่พบการติดเชื้อซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเพื่อให้ทราบการติดเชื้อได้เร็ว ฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงการระบาด อาจต้องสุ่มตรวจหมูทุกตัวที่ตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ  เพราะวิธีการนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะสามารถตรวจพบโรคได้เร็วกว่าการตรวจหมูที่สุขภาพดี และนอกเหนือจากการตรวจสอบโรคใด้เร็วแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมาคือ “การสืบสวนโรค” หรือการสืบค้นหาหมูกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อเพราะมีความเชื่อมโยงกับหมูที่ป่วยเป็นโรค กรณีนี้จะใกล้เคียงกันกับโรคโควิด – 19 ในคน คือการสืบหาผู้สัมผัสเชื้อและมีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ซึ่งจะต้องสืบหากลุ่มเสี่ยงให้ครบถ้วน เพื่อการตรวจสอบและแก้ไข ก่อนที่กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะแพร่เชื้อต่อไป สำหรับหมูที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ก็คือหมูที่มีโอกาสสัมผัสกับหมูที่ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น คนเลี้ยงเดียวกัน  ใช้อุปกรณ์ฉีดยาและวัคซีนร่วมกัน ใช้น้ำเชื้อจากแหล่งเดียวกัน ขนส่งด้วยรถขนเส่งเดียวกัน มีบุคคลจากภายนอกเข้ามาในโรงเรือนเป็นคนเดียวกัน เป็นต้น โดยหมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคเหล่านี้ จะต้องถูกตรวจสอบการติดเชื้อภายในระยะเวลามากกว่า 15 วัน นับจากวันที่คาดว่าหมูกลุ่มนี้ไปสัมผัสเชื้อโรค ด้วยความเสี่ยงที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเคลื่อนย้ายหมูออกจากพื้นที่ระบาดของโรคโดยไม่รอการตรวจสอบตามระยะเวลาที่ถูกต้อง จะเป็นความเสี่ยงสำคัญยิ่งยวดของการแพร่กระจายโรค ซึ่งกรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับโรคโควิด-19 คือผู้มีความเสี่ยงต่อการติดโรคต้องถูกกักโรคอย่างน้อย 14 วัน ตามระยะเวลาฟักโรค ดังนั้นสำหรับโรค ASF หมูกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดโรคนี้ควรกักไว้ในพื้นที่ที่แยกจากหมูกลุ่มอื่นๆ หรือที่เรียกว่าเล้ากักโรค และต้องตรวจสอบยืนยันโรคอีกครั้งเมื่อผ่านพ้นระยะกักโรคคือมากกว่า 15 วันขึ้นไป  และถ้าจะให้มั่นใจก็ควรรอตรวจสอบจนถึง 30 วัน หรือประมาณ 2 รอบของระยะฟักตัวของโรค จากมูลเหตุของปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวมา เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่า การระบาดของโรคขึ้นกับความพร้อมด้านการป้องกันโรคเป็นหลัก โดยฟาร์มในประเทศไทย มีทั้งฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการป้องกันโรคได้ดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง กับฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ที่ไม่มีความพร้อมในการป้องกันโรคกระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคดังกล่าวในแต่ละพื้นที่ คงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีศักยภาพในการป้องกันโรค ให้ช่วยเหลือฟาร์มผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่ของตัวเองด้วย เพราะหากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในเขตพื้นที่ตนเองป่วยเป็นโรคในปริมาณมากๆ ฟาร์มหมูรายกลางและรายใหญ่ก็จะมีความเสี่ยงที่อาจจะติดโรคนี้ไปด้วย  เพราะโรคนี้จะแตกต่างจากโรคหมูชนิดอื่น ที่ทุกคนไม่อาจปปฏิเสธได้ คือ “เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ไม่มีวัคซีนป้องกัน” ดังนั้น การป้องกันโรคและควบคุมโรคจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมในระดับฟาร์มเท่านั้น การป้องกันและควบคุมโรคระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ต้องทำให้ครบรอบด้านทั้งหมด ถึงจะสามารถรับมือโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะขอให้ข้อมูลรายละเอียดอีกครั้งในบทความตอนต่อไป   ก่อนจบในตอนแรกนี้ขอฝากถึงผู้เลี้ยงหมูทุกท่านอีกครั้งว่า โรค ASF เป็นโรคที่น่ากลัวก็จริงแต่ก็ยังมีแนวทางที่จะป้องกันและควบคุมโรคได้ เป็นโรคที่ควรให้ความตระหนักมิใช่ตระหนกจนกลัวไปเสียทุกสิ่ง เชื้อโรคจะแพร่ไปได้ก็ต่อเมื่อมีพาหะพาไปเท่านั้น และเมื่อมีโรคเกิดขึ้น ณ ฟาร์มหนึ่งๆ แล้วนั้น หมูกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงก็คือ หมูที่มีโอกาศสัมผัสกับหมูป่วยโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยหมูที่มีความเสี่ยงสูงคือหมูที่สัมผัสใกล้ชิดกับหมูป่วยโดยตรง เช่นอยู่ในคอกหรือเล้าเดียวกัน ส่วนหมูที่อยู่อยู่ต่างเล้าความเสี่ยงก็จะลดลง หากไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกัน เช่นไม่ใช้อุปกรณ์ฉีดวัคซีนร่วมกัน คนเลี้ยงร่วมกัน หรือมีสัตว์พาหะแพร่เชื้อเช่นแมลงวัน หนู เป็นต้น ส่วนฟาร์มที่อยู่ห่างออกไป และไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงถึงกันเลย ความเสี่ยงก็จะน้อยลงไปตามลำดับความเชื่อมโยงที่มี ดังนั้นการเกิดโรคในฟาร์มแห่งหนึ่ง ในอำเภอหรือจังหวัดหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าหมูทุกตัวในจังหวัดนั้นมีความเสี่ยง เพราะหมูที่มีความเสี่ยงสูงอาจเป็นหมูอีกจังหวัดหนึ่งก็อาจเป็นได้หากสืบสวนแล้วพบว่ารับหมูทดแทนจากฟาร์มที่ป่วยนี้ไป ดังนั้นขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นในมาตรการป้องกันโรคของตนต่อไป และตรวจสอบทุกครั้งหากสังสัยว่าฟาร์มตนเองอาจมีความเชื่อมโยงกับแหล่งหมูป่วย แล้วพบกันใหม่ในบทความตอนต่อไป ว่าควรต้องทำอย่างไรให้ “ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องอยู่ได้ ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายใหญ่ต้องอยู่รอด” CR. น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร บริษัท ซีพี่เอฟ ( ประเทศไทย) จำกัด ( มหาชน)   อ่านบทความย้อนหลัง เรื่องรวมพลังต้านภัย ASF ได้ที่นี่เลยครับ Home คู่มือการเลี้ยงสัตว์ ดาวน์โหลดฟรี

รวมพลังต้านภัย ASF ตอนที่ 1 : มูลเหตุของปัญหาและหลักการควบคุมโรค Read More »

ซีพีเอฟ รับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสัตว์ GMP+ ตลอด Feed Value Chain

  มาตรฐานรับรองระบบความปลอดภัยอาหารสัตว์ในระดับสากล  GMP+ B1 B2 และ B3 เป็นรายแรกและรายเดียวของไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รับมาตรฐานรับรองระบบความปลอดภัยอาหารสัตว์ในระดับสากล  GMP+ B1 B2 และ B3 เป็นรายแรกและรายเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองระบบ GMP+ ตลอดทั้ง Feed Value Chain สะท้อนภาพลักษณ์ผู้นำการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ปลอดภัย เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั่วโลก นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์  รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ นม ไข่ และอาหารอื่นๆ ที่มีคุณภาพ ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สอดคล้องตามมาตรฐานและข้อกำหนดของภาครัฐและประเทศคู่ค้า ซีพีเอฟเริ่มจัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO9001 มาตั้งแต่ปี 2543 และยกระดับระบบมาตรฐานอาหารสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก ปักธงชัย ได้นำระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสำหรับสัตว์ GMP+ (GMP Plus) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาใช้ จากความโดดเด่นของระบบที่คำนึงถึงปัญหาสุขภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และคำนึงถึงข้อกำหนดระหว่างประเทศ โดยซีพีเอฟได้รับความรู้จากโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมอาหารสัตว์ไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรของบริษัท จนสามารถพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ระบบ GMP+ และเป็นต้นแบบให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟและบริษัทอื่นๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของประเทศไทยสู่สากล “ความมุ่งมั่นในการนำระบบมาตรฐานนี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก ปักธงชัย ได้รับรองมาตรฐาน GMP+ B1 เป็นรายแรกของประเทศ ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ท่าเรือ ได้รับรองระบบ GMP+ B2 สำหรับการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ และ GMP+ B3 สำหรับขอบข่ายการขนถ่ายวัตถุดิบ ซีพีเอฟ จึงเป็นรายแรกและรายเดียวของไทย ที่ได้รับรองระบบ GMP+ ตลอดทั้ง Feed Value Chain และระบบนี้ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น” นายเรวัติ กล่าว ด้าน นายสตีฟ เฮนดริก ริทเซม่า (Mr.Steef Hendrik Ritzema) Managing Director บริษัท คอนโทรล ยูเนี่ยน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของซีพีเอฟ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP+ B1 B2 และ B3 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของซีพีเอฟ สอดคล้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ GMP+ สำหรับการประกันความปลอดภัยของอาหารสัตว์อย่างสมบูรณ์ และชื่นชมความมุ่งมั่นของบริษัทในการผลักดันการรับรองของซัพพลายเออร์ เพื่อร่วมรักษามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสัตว์ในระดับสูง ด้วยการประกันคุณภาพอาหารสัตว์และบริการที่ถูกกำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส “หลังจากการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาหารสัตว์ถือเป็นต้นน้ำที่มีบทบาทอย่างยิ่งในเรื่องนี้ ดังนั้น การรับรองระบบมาตรฐาน GMP+ ของซีพีเอฟในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการผลิตอาหารสัตว์คุณภาพปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน แสดงถึงความรับผิดชอบและใส่ใจในสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก” มร.สตีฟ เฮนดริก ริทเซม่า กล่าว./

ซีพีเอฟ รับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสัตว์ GMP+ ตลอด Feed Value Chain Read More »

Farm Talk คุยเฟื้องเรื่องฟาร์ม l ตอนพิเศษ CPF Feed Point ยิ่งซื้อ ยิ่งได้ ยิ่งใช้ ยิ่งคุ้ม

Farm Talk คุยเฟื้องเรื่องฟาร์ม l ตอนพิเศษ CPF Feed Point ยิ่งซื้อ ยิ่งได้ ยิ่งใช้ ยิ่งคุ้ม Read More »

Farm Talk คุยเฟื่องเรื่องฟาร์ม l EP.14 สุกรแม่ลูกดก จัดการอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพ

Farm Talk คุยเฟื่องเรื่องฟาร์ม l EP.14 สุกรแม่ลูกดก จัดการอย่างไร ให้ได้ประสิทธิภาพ Read More »

โรงเรือนอีแวป ระบบอินเวอร์เตอร์

โรงเรือนอีแวป ระบบอินเวอร์เตอร์ มีแล้วใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ตอนที่ 7

ในแต่ละวันสุกรในโรงเรือนปิดที่มีระบบทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ผันแปรตามสภาพอากาศทั้งภายนอกและภายในโรงเรือน การตั้งค่าอุปกรณ์อัตโนมัติและความใส่ใจต่อพฤติกรรมสุกรของผู้ดูแลระบบ (ส่วนใหญ่จะเป็นสัตวบาล) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สุกรในโรงเรือนเปรียบเสมือนปลาที่อาศัยอยู่ในตู้ปลา   ความแข็งแรง ความสบายและการอยู่รอดปลอดภัยขึ้นกับเจ้าของปลา ตัวปลาไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ทำได้แค่แสดงอาการ (พฤติกรรม)ให้เจ้าของเห็น สุกรก็เช่นเดียวกันความเอาใจใส่ของผู้ดูแลระบบต่อพฤติกรรมของสุกรจึงเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างความสุขสบาย (Pig Comfort) ให้กับสุกรได้   และแน่นอนว่าถ้าสุกรอยู่สุขสบาย  ก็จะให้ผลผลิตที่เป็นไปตามที่เราต้องการ ดังได้กล่าวมาแล้วในบทที่ผ่านๆมาว่าปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความสบายของสุกรคือ ความต้องการการระบายอากาศ อุณหภูมิและความชื้น ส่วนความเร็วลมเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทั้งสามตัวเป็นไปตามที่สุกรต้องการ ในตอนนี้เราจะทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมด้านอุณหภูมิและความชื้นว่าเราจะบริหารจัดการโรงเรือนอีแวปอย่างไรให้เหมาะกับความต้องการของสุกรให้มากที่สุดซึ่งมีโอกาสที่ผันแปรได้ 4 รูปแบบคือ          กรณีที่ 1. อุณภูมิสูงความชื้นสูง                   กรณีที่ 2. อุณหภูมิสูงความชื้นต่ำ          กรณ๊ที่ 3. อุณภูมิต่ำความชื้นสูง                   กรณีที่ 4. อุณหภูมิต่ำความชื้นต่ำ กรณีที่ 1.  อุณภูมิสูงความชื้นสูง      เกิดขึ้นในฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่เพราะประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้นมีหนาวช่วงสั้นๆเท่านั้น มีฝนตกมาเมื่อใหร่ก็มีโอกาสเกิดอุณภูมิสูงความชื้นสูงทันทีและอาจจะเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปีด้วยซ้ำ      การที่สัตวบาลจะเข้าใจความรู้สึกของสุกรในสภาพอุณภูมิสูงความชื้นสูงให้จินตนาการถึงห้องซาวน่า       จะเห็นได้ว่าแม้ซาวน่าจะมีประโยชน์แต่มีข้อจำกัดมากมายข้อที่สำคัญคือห้ามคนท้องเข้าห้องอบซาวน่า แล้วลองจินตนาการถึงสุกรอุ้มท้องที่อยู่ในสภาพอุณหภูมิสูงความชื้นสูงดูว่าจะเป็นเช่นไร  แม่ว่าอาจจะไม่ถึงขนาดห้องอบซาวน่าแต่ต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในข้อกำหนดของซาวน่าคือไม่ซาวน่านานเกินไป อบตัว 15-20 นาทีก็เพียงพอแล้ว แต่สุกรของเราไม่สามารถเดินหนีออกจากโรงเรือนที่อุณหภูมิสูงความชื้นสูงได้            ถ้าต้องการให้ห้องซาวน่ามีสภาพแวดล้อมที่สุขสบายสำหรับสุกร สิ่งแรกที่ต้องทำคือระบายความชื้นที่มีความร้อนสูงออกเปิดโอกาสให้มีลมจากภายนอกเข้ามาในห้องเพื่อลดอุณหภูมิและเนื่องจากสุกรไม่มีต่อมเหงื่อถ้าตัวสุกรมีน้ำเย็นๆบริเวณผิวหนังก็จะทำให้เย็นมากขึ้นและเร็วขึ้น ในภาวะที่อุณหภูมิสูงความชื้นสูง สัตวบาลจึงต้องใช้การพาความร้อน(Convection) เป็นลำดับแรกเพื่อลดความชื้นภายในโรงเรือน  ให้ปิดปั้มน้ำรดเยื่อกระดาษเมื่อความชื้นถึงขีดวิกฤตตามมาตรฐานของสุกรในแต่ละช่วงอุณหภูมิ (Optimum Humidity) และใช้น้ำหยดหรือฟอกเกอร์ช่วยให้ตัวสุกรเปียกเป็นลำดับที่ 2  (ฟอกเกอร์ใช้แบบที่พ่นน้ำไปที่ตัวสุกรเพื่อให้ตัวสุกรเปียกน้ำโดยไม่เป็นการเพื่มความชื้นในโรงเรือน ไม่พ่นเป็นหมอก)          ความสำเร็จอยู่ที่ศักยภาพของโรงเรือนว่ามีความพร้อมแค่ไหนเช่นความสามารถในการทำความเร็วลม อุณภูมิของน้ำที่ใช้กับตัวสุกร โรงเรือนสามารถป้องกันการแผ่รังสีความร้อนได้หรือไม่ รูรั่วของผนังโรงเรือนโดยเฉพาะที่ฝ้ามีมากน้อยแค่ไหนและพื้นที่เยื่อกระดาษเหมาะสมกับความเร็วลมที่ใช้ไม่ทำให้เกิด Negative Pressure เป็นต้น กรณีที่ 2.  อุณภูมิสูงความชื้นต่ำ เกิดขึ้นในฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่เพราะประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้นมีหนาวช่วงสั้นๆเท่านั้น เมื่อไม่มีฝนก็มีโอกาสเกิดอุณภูมิสูงความชื้นต่ำทันที          การที่สัตวบาลจะเข้าใจความรู้สึกของสุกรในสภาพอุณภูมิสูงความชื้นสูงให้จินตนาการถึงทะเลทราย  ในทะเลทรายถ้ามีร่มเงาที่ดีอย่างน้อยการแผ่รังสีความร้อนก็จะมีผลกับเราน้อยลง เช่นเดียวกับโรงเรือนสุกรถ้ามีความสามารถในการป้องกันการแผ่รังสีได้ดีย่อมทำให้สุกรอยู่สุขสบาย การสร้างโรงเรือนสุกรจึงต้องพิจารณาวัสดุที่นำมาใช้เป็นผนัง หลังคาและฝ้าให้สามารถลดการแผ่รังสีได้ยิ่งเยอะยิ่งดีถ้าวัสดุนั้นๆไม่มีผลเสียด้านอื่นๆ          เนื่องจากสุกรไม่มีต่อมเหงื่อและต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายทะเลทราย สุกรจะอยู่อย่างสุขสบายได้สิ่งแรกคือตัวสุกรต้องมีน้ำเย็นๆบริเวณผิวหนังร่วมกับลมที่พัดผ่านทำให้น้ำระเหยดึงความร้อนออกจากตัวสุกรประกอบกับความชื้นต่ำทำให้น้ำระเหยได้ดี การควบคุมอุณหภูมิในสภาพอุณหภูมิสูงความชื้นต่ำจึงทำได้ค่อนข้างง่ายถ้าโรงเรือนมีศักยภาพที่ดี ในภาวะที่อุณหภูมิสูงความชื้นต่ำ สัตวบาลจึงต้องใช้การระเหยน้ำ (Evaporation) และการพาความร้อน(Convection) ทำงานควบคู่กัน ปั้มน้ำรดเยื่อกระดาษจะช่วยลดอุณภูมิในโรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ควรมีความชุ่มน้ำ 100%ของหน้าเยื่อกระดาษ)          ถ้าอุณหภูมิสูงมากจนโรงเรือนกดอุณหภูมิลงเต็มที่แล้วแต่อากาศภายในโรงเรือนยังร้อนเกินความต้องการของสุกร การใช้น้ำหยดหรือฟอกเกอร์ช่วยให้ตัวสุกรเปียกเป็นช่วงๆจะทำให้สุกรมีความสุขสบายตามหลักการอุณภูมิที่สุกรรู้สึกหรือ Effective Environment Temperature          ความสำเร็จอยู่ที่ศักยภาพของโรงเรือนว่ามีความพร้อมแค่ไหนเช่นความสามารถในการทำความเร็วลม อุณภูมิของน้ำที่ใช้กับตัวสุกร โรงเรือนสามารถป้องกันการแผ่รังสีความร้อนได้หรือไม่ รูรั่วของผนังโรงเรือนโดยเฉพาะที่ฝ้ามีมากน้อยแค่ไหนและพื้นที่เยื่อกระดาษเหมาะสมกับความเร็วลมที่ใช้ไม่ทำให้เกิด Negative Pressure มากเกินไปซึ่งจะทำให้ความเร็วลมผ่านเยื่อกระดาษเร็วจนแลกเปลี่ยนอุณภูมิกันไม่ทันและทำให้เกิดปรากฎการณ์อากาศเบาบางภายในโรงเรือน กรณีที่ 3.  อุณภูมิต่ำความชื้นสูง เกิดขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว ฝนกำลังจะหมดอุณหภูมิเริ่มลด      มีโอกาศเกิดช่วงสั้นๆในเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน อาจหยืดยาวถึงเดือนธันวาคม          การที่สัตวบาลจะเข้าใจความรู้สึกของสุกรในสภาพอุณภูมิต่ำความชื้นสูงให้จินตนาการถึงบรรยาศบนยอดเขาในช่วงเวลาดังกล่าวตอนเช้าๆ บนยอดเขาตอนเช้าๆท่ามกลางทะเลหมอกแม้ความชื้นจะสูงแต่เนื่องจากอุณหภูมิต่ำเราจะรู้สึกสบาย ถ้ามีลมอ่อนๆผ่านตัวเราเบาๆยิ่งเพิ่มความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับโรงเรือนสุกรขอแค่มีลมผ่านไม่ให้ความชื้นแช่อยู่ในโรงเรือนจนสร้างความอึดอัด สุกรจะอยู่อย่างสุขสบายได้ ในภาวะที่อุณหภูมิต่ำความชื้นสูง สัตวบาลจึงต้องใช้การพาความร้อน(Convection) เป็นหลักเพื่อทำให้ภายในโรงเรือนมีความต้องการการระบายอากาศที่เพียงพอ ไม่มีการสะสมก๊าซไม่พึงประสงค์และช่วยระบายความชื้นออกจากโรงเรือน        มีเรื่องที่ต้องระมัดระวังคือระบบอัตโนมัติที่ควบคุมปั้มน้ำรดเยื่อกระดาษ น้ำหยดและฟอกเกอร์ถ้าทำงานผิดพลาดจะเป็นการเพิ่มความชื้นในโรงเรือนขึ้นมาได้          เนื่องจากเรามีลูกสุกรอยู่ในบางโรงเรือนไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนคลอดหรือโรงเรือนสุกรรุ่น-ขุนระยะอนุบาล สัตวบาลจึงต้องนำความรู้ด้านการนำความร้อน(Conduction) และการแผ่รังสี (Radiation) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกสุกร          ความสำเร็จอยู่ที่ศักยภาพของโรงเรือนด้านความพร้อมในการทำความเร็วลมเพื่อการโช๊คความชื้นและก๊าซรวมทั้งการเพิ่มความอบอุ่นที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็น พื้นรองนอน ไฟกกและการป้องกันลูกสุกรไม่ให้โดนลมโกรก (Wind Chill) เป็นต้น กรณีที่ 4.  อุณภูมิต่ำความชื้นต่ำ เกิดขึ้นในช่วงเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยประมาณ เป็นช่วงเวลาที่เลี้ยงสุกรได้ง่ายแม้มีความผิดพลาดด้านการควบคุมสภาพแวดล้อมบ้างเล็กๆน้อยๆก็แทบไม่มีผลกระทบด้านประสิทธิภาพแต่อย่างใด          การที่สัตวบาลจะเข้าใจความรู้สึกของสุกรในสภาพอุณภูมิต่ำความชื้นต่ำให้จินตนาการถึงบรรยาศเย็นๆบนยอดเขา ช่วงเที่ยงวันที่อากาศแห้ง บนยอดเขาในช่วงที่อากาศแห้ง (ความชื้นต่ำ) แม้อุณหภูมิจะต่ำ    เรารู้สึกสบายก็จริงแต่ให้สังเกตว่าอยู่นานๆ เราจะเริ่มแสบจมูกเนื่องจากระบบทางเดินหายใจเราเริ่มแห้ง  สุกรก็เช่นกันถ้าความชื้นต่ำเกินไปจะเริ่มมีอาการไอ สัตบาลจึงต้องพิจารณาเพิ่มความชื้นในโรงเรือนบ้างเพื่อลดภาวะการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเรามีลูกสุกรอยู่ในบางโรงเรือนไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนคลอดหรือโรงเรือนสุกรรุ่น-ขุนระยะอนุบาล สัตวบาลจึงต้องนำความรู้ด้านการนำความร้อน(Conduction) และการแผ่รังสี (Radiation) มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกสุกร          ในภาวะที่อุณหภูมิต่ำความเร็วลมต่ำ สัตวบาลยังคงต้องใช้การพาความร้อน(Convection) เพื่อทำให้ภายในโรงเรือนมีความต้องการการระบายอากาศที่เพียงพอ ไม่มีการสะสมก๊าซไม่พึงประสงค์และในภาวะที่ความชื้นต่ำมากๆอาจต้องตั้งระบบปั้มน้ำรดเยื่อกระดาษให้ทำงานช่วงสั้นๆเพื่อเพิ่มความชื้นป้องกันการไอของสุกรจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ          ความสำเร็จอยู่ที่ศักยภาพของโรงเรือนด้านความพร้อมในการทำความเร็วลมเพื่อการโช๊คก๊าซ     ระบบอัตโนมัติที่สามารถปล่อยน้ำรดแพดช่วงสั้นๆอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งการเพิ่มความอบอุ่นที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็น พื้นรองนอน    ไฟกกและการป้องกันลูกสุกรไม่ให้โดนลมโกรก (Wind Chill) เป็นต้น

โรงเรือนอีแวป ระบบอินเวอร์เตอร์ มีแล้วใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ตอนที่ 7 Read More »

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)