ส่งออกไก่ไทยฉลุย 9 แสนตัน ยืนหนึ่งมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์สากล

 

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ไทยในฐานะผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่มาโดยตลอด ทั้งการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ตั้งแต่องค์ประกอบของฟาร์ม เช่น อาหาร น้ำ การจัดการฟาร์ม การจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมไก่ให้มีสุขภาพดี ปราศจากยาปฏิชีวนะ ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งผลดีต่อเนื้อไก่และเหมาะสมในการนำไปผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มที่ดีจากกรมปศุสัตว์ เนื้อไก่ที่นำไปผลิตอาหารต้องมาจากฟาร์มที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงจากการปนเปื้อนของอันตรายทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของไก่ ไม่เลี้ยงไก่หนาแน่นเพื่อให้ไก่อยู่สบาย และสัตว์ต้องได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูปไม่ให้มีการทรมานสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น

สมาคมฯ ตั้งเป้าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปในปี 2564 รวม 900,000 ตัน มูลค่า 101,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับที่ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยไทยมีปริมาณส่งออกสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 981,089 ตัน มูลค่า 107,828 ล้านบาท

“ไทยคุมเข้มมาตรฐานการผลิตและการส่งออกเนื้อไก่ในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย คือ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูงมาก (Sanitary and Phytosanitary :SPS) ทั้งมาตรฐานฟาร์มและการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างเท่าเทียม ซึ่งผู้ส่งออกไทยผ่านการรับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดทั้งหมด และผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานสากลที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าเสมอ” นายคึกฤทธิ์ กล่าว  

ผู้ส่งออกไทยยังต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่องจากกรมปศุสัตว์ ทั้งมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน ให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค

นายคึกฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก GAP และหลักสวัสดิภาพสัตว์สากลที่ผู้ส่งออกไทยผ่านมาตรฐานแล้ว ไทยยังคำนึงถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ (Prudent Use of Antibiotics) โดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลทั้งสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยภายในฟาร์ม ควบคู่กับการระบบการป้องกันโรคทางชีวภาพ (Bio-security) เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคภายใต้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ทำให้คนไทยและผู้บริโภคทั่วโลกได้รับประทานเนื้อไก่ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

 

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)