Logo-CPF-small-65png

ถุงน้ำในรังไข่ ปัญหาใหญ่ชาววัวนม

  ขอนำเกษตรกรทุกท่านมารู้จักกับปัญหา “ถุงน้ำในรังไข่” เพราะ “ปัญหาการผสมไม่ติด”ถือเป็น 1 ใน 3 ปัญหาหลักสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นอกเหนือไปจาก..ปัญหาเต้านมอักเสบ..และ..ปัญหาเรื่องกีบ.. ปัญหาถุงน้ำในรังไข่ดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาผสมไม่ติด ซึ่งอาการที่วัวแสดงออกนั้น อาจจะเป็น

1) การเป็นสัดถี่หรือเป็นสัดไม่ตรงรอบ (ประมาณ 20-30%) ซึ่งหากเป็นอาการแบบแรกเกษตรกรจะสังเกตเห็นเอง ตามหมอมาล้วงตรวจรังไข่ และทำการรักษาต่อไป

2) ไม่แสดงการเป็นสัดให้เห็น (ประมาณ 70-80%) แต่ถ้าเป็นแบบนี้ เกษตรกรอาจจะรู้ตัวช้าและเข้าใจว่าเกิดการจับสัดพลาดและปล่อยผ่านไปซึ่งนั่นจะทำให้เกิด..วัวกินอาหารฟรี..ภายในฟาร์ม ซึ่งเกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหารมากขึ้นนั่นเอง เรื่องนี้ยิ่งรู้ช้ายิ่งขาดทุน!

ถุงน้ำในรังไข่คืออะไร ??? สัตว์แสดงอาการอย่างไร ???

ถุงน้ำในรังไข่ คือถุงน้ำซึ่งเกิดขึ้นบนรังไข่ “ มีขนาดใหญ่กว่า 25 มิลลิเมตร ” (ไข่ก่อนการตกไข่ ปกติขนาดประมาณ 15-25 มิลลิเมตร) และมีการคงค้างมากกว่า 10 วัน มักเกิดหลังคลอด ซึ่งเรามักจะมองว่าเป็นปัญหา เมื่อไม่เห็นการเป็นสัดนานกว่า 6 อาทิตย์หลังคลอด หรือแสดงการเป็นสัดถี่ไม่ตรงรอบชัดเจน โดยปกติถุงน้ำนี้จะมีสองประเภท คือ

1) ถุงน้ำผนังบาง หรือ “ซีสต์น้ำ” สัตว์อาจแสดงอาการเป็นสัดถี่ หรือไม่แสดงอาการเป็นสัดก็ได้

2) ถุงน้ำผนังหนา หรือ “ซีสต์เนื้อ” สัตว์มักไม่แสดงอาการเป็นสัด ทั้งนี้การแยกประเภทของถุงน้ำสามารถยืนยันได้ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ แต่หากไม่มีใช้ในพื้นที่ก็จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของผู้ตรวจสอบโดยการคลำรังไข่ผ่านทางทวาร

เกิดในวัวได้อย่างไร ???

        สาเหตุของถุงน้ำในรังไข่ยังคงไม่เป็นที่เข้าใจดี แต่พบว่าสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้, มักพบปัญหาในแม่วัวให้นมมาก, เป็นในแม่วัวหลายท้อง, หรือแม่โคได้รับสารพิษจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร (ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์), แม่วัวที่มีภาวะขาดพลังงานหลังคลอด, แม่วัวที่มีภาวะคลอดยากและเกิดมีโรคหลังคลอดอื่นๆตามมา

การแก้ไขปัญหาและการป้องกัน

ปัญหาถุงน้ำในรังไข่ที่พบ โดยปกติร่างกายแม่วัวจะปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนและทำให้ถุงน้ำที่เกิดนั้นฝ่อสลายไปได้โดยเราไม่ต้องทำอะไร  โดยเฉพาะหากเราพบปัญหาก่อนการตกไข่ครั้งแรก ประมาณ 60% ถุงน้ำนั้นจะฝ่อสลายเอง แต่หากเราพบปัญหาหลังการตกไข่ ครั้งที่  2, 3, หรือต่อๆไป โอกาสที่ถุงน้ำนั้นจะฝ่อสลายเองมีเพียง 20% จึงจำเป็นต้องอาศัยการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน..

 โดยใช้ฮอร์โมน GnRH (ชื่อการค้า เฟอร์ตากิลแล้วตามด้วยฮอร์โมน PGF2α (ชื่อการค้า ลูทาไลท์ ,เอสตรูเมทใน 10 – 14 วัน ภายหลังฮอร์โมน GnRH

ก่อนการใช้ฮอร์โมน สัตว์ควรได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ก่อน เพราะหากวินิจฉัยแยกชนิดของถุงน้ำที่พบได้ จะประหยัดค่าฮอร์โมนที่ใช้ (ใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง) และเป็นการตรวจสุขภาพอื่นๆยืนยันว่าแม่วัวไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน

     ระวัง วิธีการบีบให้แตก.!!!..ปัจจุบันไม่นิยมให้ทำการบีบให้แตกโดยการล้วงผ่านทางทวารหนักเพราะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเลือดออก มีรอยแผลบนรังไข่ อาจส่งผลทำให้การเจริญหรือการตกไข่ในวงรอบต่อไปไม่สมบูรณ์และเนื่องจากสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้นการจัดการอาหารที่ถูกต้องให้มีความสมดุลทั้งในแง่ของพลังงาน โปรตีนและแร่ธาตุตามปริมาณการให้น้ำนมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของแม่วัว  ตลอดจนการป้องกันการเกิดโรคหลังคลอดต่างๆ ก็จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้การจับสัดที่ดี มีโปรแกรมการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์เป็นประจำ เช่น ล้วงตรวจมดลูกหลังคลอด 30 วัน, ล้วงตรวจวัวที่ไม่เห็นการเป็นสัดใน 60 วันหลังคลอด ก็จะช่วยให้สามารถระบุปัญหาต่างๆได้ไว ยิ่งขึ้นด้วย

 

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)