จีนกว้านซื้ออาหารสัตว์ ดันต้นทุนวัตถุดิบกระฉูด

   “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ราคาแพงข้ามปี หลังจีนแห่เลี้ยงมากขึ้น-พายุถล่มสหรัฐฉุดผลผลิตหด ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เตรียมหันใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น หวังลดต้นทุนเลี้ยงสัตว์ “ปลายข้าว-รำ-มัน” ส้มหล่น

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเปิดเผยว่า สถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ในไตรมาส 4 เช่น ข้าวโพดเพิ่มขึ้น 30% เฉลี่ยราคา กก.ละ 11-11.50 บาท จากปี 2563 ราคา กก.ละ 9 บาท ส่วนราคาถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้น 25% เฉลี่ย กก.ละ 20 บาท จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย กก.ละ 15 บาท ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้น 10% นับตั้งแต่ไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1 ของปี 2565

โดยปัจจัยที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีน สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้จีนมีความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเข้ามาสต๊อกไว้เพื่อใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงกลางปีนี้

ขณะที่ประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น สหรัฐ บราซิล อาร์เจนตินา และสหราชอาณาจักร (ยูเค) เริ่มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่สำคัญของโลก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง แม้ว่าจะขยายพื้นที่การเพาะปลูก เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้นปี 2564 แต่ผลผลิตไม่ได้เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้เพราะได้รับผลกระทบจากพายุ

แม้ราคาจะอ่อนตัวลงบ้างที่ในช่วงที่ผลผลิตออกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 แต่ราคาวัตถุดิบยังคงมีแนวโน้มที่สูง ต้นทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทยยังได้รับผลกระทบอย่างค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตอนนี้ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ค่าน้ำมัน รวมเป็นต้นทุนค่าขนส่งการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยยังคงสูง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาซื้อ-ขายเฉลี่ย กก.ละ 4-5 บาท ช่วงกลางปี 2563 แต่เมื่อจีนเริ่มนำเข้า ราคาปัจจุบันปรับขึ้น เฉลี่ย กก.ละ 6-8 บาท หากคิดค่าจัดการขนส่ง เช่น หากส่งมาที่เวียดนามราคาก็ปรับขึ้นที่ กก.ละ 7 บาท คือ บวกต้นทุนอีก 2 บาท ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองกก.ละ 12-13 บาท ขณะนี้ขึ้นเป็น กก.ละ 15-18 บาท กากถั่วเหลือง กก.ละ 18-19 บาท ซึ่งเป็นราคารวมค่าขนส่ง การจัดการแล้ว

ข้าวสาลีเดิมเฉลี่ย กก.ละ 7-8 บาท ตอนนี้ กก.ละ 11-12 บาท และประเมินว่าจะมีราคานี้จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ส่งผลให้แนวโน้มผู้ประกอบการอาหารสัตว์จะหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลายข้าว

ทั้งนี้ สัดส่วนความต้องการใช้อาหารสัตว์กว่า 90% อยู่ที่สัตว์บก และจะสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงอากาศดีทำให้สัตว์กินอาหารได้มาก ส่วนสัตว์น้ำความต้องการอาหารสัตว์ต่อปีอยู่ที่ 5-6% ซึ่งกินน้อย และช่วงหน้าหนาวก็กินน้อยเนื่องจากอากาศเย็น

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดใกล้หมดแล้ว จำเป็นต้องรอดูว่าจะเริ่มการเพาะปลูกในปีหน้า แต่จากแนวโน้มจะรอการประเมิน “ยังคงสูง” ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์หันมาใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง

ส่วนปลาป่นปัจจุบันความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากผู้นำเข้ามีมาตรฐานให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ลดการใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้ไปใช้พืชแทน ส่งผลให้การใช้น้อยมาก ส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ทางผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องคำนึงถึงสารอาหารโปรตีน เนื่องจากวัตถุดิบบางตัวโปรตีนไม่มากพอ โดยวัตถุดิบที่มีโปรตีนมากสุด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลผลิตประเทศไทยมีผลผลิตน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ระหว่างการส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังหลังนาเพื่อนำมาทดแทน คาดว่าจะมีการเพาะปลูกที่มากขึ้น แม้โปรตีนมันสำปะหลังจะน้อยเพียง 2% แต่ก็ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากราคายังคงสูงอยู่ เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ 70% มาจากอาหารสัตว์ หากราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงของกลุ่มผู้เลี้ยงได้ ต่อปีอาหารสัตว์ผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 20 ล้านตัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)