Logo-CPF-small-65png
คู่มือ การเลี้ยงเป็ดไข่

คู่มือการเลี้ยงเป็ดไข่ สูตรสร้างความสำเร็จแบบมืออาชีพ

การเลี้ยงเป็ดไข่ จาก 0 ถึงมืออาชีพ ครบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น โรงเรือน อาหาร การดูแล

 

ปัจจุบัน การเลี้ยงเป็ดไข่  ได้มีการพัฒนาไปมาก  ทั้งในเรื่องของสายพันธุ์   อาหาร   วิธีการเลี้ยง  ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  เพื่อให้สามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตต่ำ   โดยเฉพาะสายพันธุ์  CP Super ซึ่งเป็นเป็ดไข่ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีรูปร่างที่ปราดเปรียว หากินเก่ง กินอาหารน้อย ไข่ดก โดยให้ไข่สะสมที่ 52 สัปดาห์สูงถึง   280-300   ฟองต่อตัว   และสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วด้านคุณภาพไข่ ให้ไข่น้ำหนักเฉลี่ย   72 กรัม มีเปลือกไข่ที่หนา และฟองไข่แดงที่ใหญ่

คู่มือการเลี้ยงเป็ดไข่ ได้รวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญของการเลี้ยงเป็ดไข่ในปัจจุบัน     จากในส่วนของมาตรฐานสายพันธุ์เป็ดไข่    พร้อมได้รวบรวมความรู้และเทคนิคการเลี้ยงจากผู้ชำนาญการด้านการเลี้ยงเป็ดไข่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ไว้ด้วย     อย่างไรก็ตามคู่มือฉบับนี้เป็นเพียงแนวทางในการจัดการฟาร์ม    ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถดูแลเป็ดไข่   สายพันธุ์  CP Super ให้เป็นไปตามมาตรฐานสายพันธุ์ มีผลผลิตไข่ตรงตามความต้องการของตลาด   และมีผลกำไรต่อผู้เลี้ยง หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือจากคู่มือฉบับนี้สามารถสอบถามได้ที่ ฝ่ายขายพันธุ์สัตว์ บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 128 ถ. เย็นจิต แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120  โทร.     0-2680-4532, 0-2680-4557

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ เป็ดไข่ 2000 ตัว สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นี่ครับ  >>>  โครงการเป็ดไข่ครบวงจร  <<< 

ความสำเร็จเริ่มต้นที่สายพันธุ์ : ลักษณะของเป็ดไข่สายพันธุ์ ซีพี ซุปเปอร์

 

การเลี้ยงเป็ดไข่-ลูกเป็ดอายุ1วัน

ลักษณะลูกเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ อายุ 1 วัน  มีลักษณะสีขนสีเหลือง กากี ปากและเท้าสีส้มอมน้ำตาล

การเลี้ยงเป็ดไข่-โตเติมวัย

น้ำหนักเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์

ลูกเป็ดอายุ 1 วัน มีน้ำหนักประมาณ 40 กรัม เมื่อน้ำหนักประมาณ 1,450 กรัม ที่อายุ 18 สัปดาห์ ก็ เริ่มให้ไข่ฟองแรก และเมื่อเป็ดให้ผลผลิตครบ 1 ปี น้ำหนักจะเท่ากับ 1,650 กรัม

ลักษณะไข่เป็ด ซีพี ซุปเปอร์

ลักษณะของไข่ มีน้ำหนักเฉลี่ย 72 กรัม สีเปลือกไข่สีขาว และสีเขียวอ่อน มีฟองไข่แดงใหญ่ เปลือกหนาและเหนียว เหมาะแก่การนำไปแปรรูป

การเตรียมโรงเรือน และ อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงเป็ดไข่

  1. พื้นที่การเลี้ยงระยะลูกเป็ดและเป็ดรุ่น   6 – 8   ตัวต่อ ตรม.
  2. พื้นที่การเลี้ยงระยะเป็ดไข่   3 – 4   ตัวต่อ ตรม.
  3. พื้นที่ในโรงเรือน แบ่งส่วนพื้นที่การเลี้ยงดังนี้
  4. พื้นที่การกินอาหารและบริเวณพักผ่อน  ประมาณ  50%  ของโรงเรือน
  5. พื้นที่ไข่  ประมาณ  20% ของโรงเรือน
  6. พื้นที่ลานนอกโรงเรือนมีบ่อน้ำ  หรือ  รางน้ำ  สำหรับให้เป็ดกินน้ำ และเล่นน้ำ ประมาณ 30% ของพื้นที่

การเลี้ยงเป็ดไข่-ตารางการจัดพื้นที่โรงเรือน

การเลี้ยงเป็ดไข่-ตารางการจัดพื้นที่โรงเรือนและการให้อาหาร

ขั้นตอนการเตรียมโรงเรือน สำหรับเป็ดไข่

  1. สำหรับโรงเรือนใหม่ต้องเก็บกวาด และ  ตรวจเช็คอย่าให้มีสิ่งที่ก่ออันตรายกับตัวเป็ด   เช่น วัสดุมีคม   แต่โรงเรือนที่เคยเลี้ยงเป็ดมาก่อน  ต้องเก็บกวาดสิ่งปฏิกูล   วัสดุรองพื้น   ออกจากโรงเรือนให้มากที่สุด
  2. ล้างทำความสะอาดโรงเรือน และ  อุปกรณ์การเลี้ยง  ด้วยน้ำสะอาด    แล้วพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค  ฆ่าแมลง   ทั้งภายใน และ ภายนอกโรงเรือนให้ทั่ว
  3. สำหรับลูกเป็ด ให้ใส่วัสดุรองพื้น   ที่แห้ง และ สะอาด เช่น แกลบ  รองพื้นโรงเรือนหนาประมาณ  1 – 2   นิ้ว   พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สำหรับกก ลูกเป็ด   แผงกั้นล้อมบริเวณที่จะเลี้ยงลูกเป็ด    อุปกรณ์ให้น้ำ ให้อาหาร   และ  กั้นผ้าม่านโดยรอบ  เพื่อป้องกันลมโกรก  และ  ฝนสาด
  4. สำหรับเป็ดระยะให้ผลผลิต   ควรใส่วัสดุรองพื้น ที่แห้ง และ สะอาด  โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ไข่
  5. พ่นยาฆ่าเชื้อ และ  ยาฆ่าแมลง  อีกครั้ง
  6. หากมีการปลดเป็ดฝูงเก่าออกควรมีการพักโรงเรือนอย่างน้อย 21   วัน  ตามระเบียบของกรมปศุสัตว์

การจัดการลูกเป็ดไข่ระยะกกอายุ    1 – 7 วัน

 การกกลูกเป็ดต้องคำนึงถึงการจัดการด้านอุณหภูมิ   การขยายพื้นที่การเลี้ยง  และ  การจัดวางอุปกรณ์ให้อาหาร  ให้น้ำ   เพื่อให้ลูกเป็ดมีความเป็นอยู่สบาย  สุขภาพแข็งแรง

การนำลูกเป็ดเข้าเลี้ยง

  • ประมาณการลูกเป็ดเข้าเลี้ยง โดยคำนึงถึงพื้นที่การเลี้ยง  6 – 8 ตัวต่อ ตรม.
  • การขออนุญาตลงลูกเป็ด โดยแจ้งการขอเข้ากับปศุสัตว์อำเภอ  ก่อนจะนำลูกเป็ดเข้าเลี้ยงใหม่

การเตรียมความพร้อมในการรับลูกเป็ด

จัดเตรียม น้ำสะอาดใส่กระติกน้ำ   ถาดอาหารก่อนลูกเป็ดเข้า  เปิดเครื่องกก  และ  ปรับอุณหภูมิภายในกกอยู่ที่   32 C   ก่อนลูกเป็ดเข้า 2 ชั่วโมง

การรับลูกเป็ด ตรวจเช็คสุขภาพ  โดยดูจากลักษณะภายนอก  หากพบ  ลูกเป็ดอ่อนแอ  พิการ   ตาบอด   คอบิด  ขาเสีย  ปากเบี้ยว    ให้คัดทิ้ง  และ ตรวจนับจำนวนลูกเป็ด    พร้อมทั้งสุ่มชั่งน้ำหนักลูกเป็ดประมาณ  5-10 %

การเลี้ยงเป็ดไข่-การตรวจเช็คลูกเป็ดไข่

การกกลูกเป็ด ควรมีการตรวจสอบอุณหภูมิ   ความสุขสบายของลูกเป็ด    และควรขยายพื้นที่การกกให้เต็มพื้นที่การเลี้ยงที่อายุลูกเป็ด  7 – 10  วัน

การเลี้ยงเป็ดไข่-การกระจ่ายตัว

การจัดการอาหาร ใช้ถาดเหลือง  7  วันแรก  โดยแบ่งอาหารให้วันละ  3  ครั้ง เบอร์อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกเป็ดได้คือ    541 D-1      ปข 1 YC 6548 YC และ 521 น้ำหนักลูกเป็ดช่วงสัปดาห์แรก 150 กรัม

การเลี้ยงเป็ดไข่-การให้อาหารลูกเป็ดไข่

การจัดการน้ำ ในวันแรกที่ลงลูกเป็ดให้ฝึกการกินน้ำ โดยการจับปากลูกเป็ดจุ่มลงในน้ำ เพื่อให้ลูกเป็ดกินน้ำเป็น หลังจากเป็ดอายุ 4 วัน เริ่มลดจำนวนกระปุกน้ำออก และฝึกให้เป็ดกินน้ำจากนิปเปิ้ล หรืออุปกรณ์ให้น้ำชนิดต่างๆ

การเลี้ยงเป็ดไข่-วิธีการฝึกกินน้ำ

การจัดการแสงสว่างของลูกเป็ด

การเลี้ยงเป็ดไข่-การจัดการแสงของลูกเป็ด

การจัดการเป็ดรุ่นไข่อายุ 2 – 17 สัปดาห์

การจัดการอาหาร ควรให้อาหารวันละ1 ครั้ง   การเทอาหารต้องรวดเร็ว อุปกรณ์ให้อาหารต้อง เพียงพอ และการกระจายอาหารต้องทั่วถึง โดยปริมาณอาหารพิจารณาตามตาราง ที่อายุ 2 สัปดาห์ ใช้อาหารลูกเป็ด คือ 541 D-1      ปข 1 YC      6548 YC    และ    521 ที่อายุ 3 สัปดาห์ขึ้นไปใช้อาหารเป็ดรุ่นไข่คือ    599 D      ดี -5      ส 6 D      6656 D

การเลี้ยงเป็ดไข่-การจัดการอาหารสำหรับเป็ดไข่อายุ 0-17สัปดาห์

การชั่งน้ำหนัก การหาค่าความสม่ำเสมอ 

เป็นค่าบ่งชี้ ให้ทราบได้ว่าน้ำหนักตัวเป็ดรุ่นไข่ ในแต่ละสัปดาห์มีค่าใกล้เคียงกับมาตรฐานหรือไม่ นอกจากนี้แล้วความสม่ำเสมอของฝูงเป็ดก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หากความสม่ำเสมอในฝูงสูงก็จะส่งผลถึง %ไข่ที่จะสูงตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามหากความสม่ำเสมอต่ำก็จะทำให้ %ไข่ลดลง ซึ่งอาจแก้ไขด้วยการพิจารณาถึงการเพิ่มปริมาณอาหาร ความเร็วในการกระจายอาหาร และอุปกรณ์ในการให้อาหาร

ทำไมต้องมีการชั่งหรือตรวจเช็ค การให้อาหาร และชั่งน้ำหนักของเป็ดไข่ ทั้งนี้การเลี้ยงเป็ดไข่ หรือสัตว์ใดๆก็ตามถ้ามีระบบในการตรวจสอบ และการ เช็คการเติบโต จะทำให้ การเลี้ยงมีคุณภาพมากขึ้น และมีผลผลิตดีขึ้น อย่างมาก

การจัดการน้ำ ที่ให้น้ำควรเป็นแบบรางน้ำ และมีลูกลอย  เพื่อจะได้มีน้ำให้เป็ดกินได้ ไม่ขาดน้ำ

ตลอดเวลาในช่วงเป็ดรุ่น น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต้องมั่นใจว่ามีอย่างเพียงพอ เพราะช่วงนี้มีการให้อาหารอย่างจำกัดวันละ 1 ครั้ง ดังนั้นเป็ดจะกินอาหารอย่างรวดเร็วและกินอาหารเต็มกระเพาะจนถึงหลอดอาหาร หลังจากกินอาหารเสร็จเป็ดจะกินน้ำในเวลาเดียวกัน หากเป็ดขาดน้ำหรืออุปกรณ์การให้น้ำไม่เพียงพอจะทำให้เป็ดเกิดอาการอาหารติดคอ (จุกอาหาร) และเสียหาย

การจัดการแสง

การเลี้ยงเป็ดไข่-การให้แสงของเป็ด2

การฝึกเข้ารังไข่ เมื่อเป็ดอายุได้ 16 สัปดาห์ ควรเริ่มนำรังไข่เข้าเล้า เพื่อฝึกให้เป็ดเข้ารังไข่

โดยในตอนกลางคืน (21:00 – 6:00น.) ควรเปิดไฟให้มีความเข้มแสงประมาณ 5 Lux ในบริเวณรังไข่ และบริเวณรังไข่ควรมีประตู โดยจะเปิดประตูเฉพาะเวลาที่ให้แสงในเวลากลางคืน และปิดในเวลากลางวัน เพื่อให้เป็ดรู้เวลาเข้าไข่ และป้องกันไม่ให้ไข่สกปรก

การคัดทิ้งเป็ดผิดเพศ โดยปรกติในการคัดเพศเป็ดไข่เพศเมีย จะมี%ความผิดพลาดประมาณ

0.5-1% (การขายลูกเป็ดไข่มีลูกเป็ดแถม 2%) เราสามารถเริ่มคัดเป็ดผิดเพศได้ที่อายุ 5-7 สัปดาห์ แต่จะเริ่มชัดเจนที่อายุประมาณ 10 สัปดาห์ โดยพิจารณาจาก ขนาดตัวที่ใหญ่ หัวใหญ่ บริเวณหัวเป็นสีน้ำตาลหรือเขียวเข้ม ขนบริเวณหน้าอกสีน้ำตาลเข้ม ปากสีเหลืองเข้ม ขนที่ก้นงอน และเสียงร้องแหบ ซึ่งผลเสียของการไม่คัดเป็ดผิดเพศทิ้งคือ ไข่เป็ดสดจะมีเชื้อ ทำให้เก็บไว้ได้ไม่นาน รวมทั้งไม่เหมาะที่นำไปแปรรูปอีกด้วย

การจัดการเป็ดระยะไข่อายุ 18 สัปดาห์ ถึง ปลด

การจัดการอาหาร และ น้ำ

  • ควรให้อาหารวันละ   1 – 2  ครั้ง  ซึ่งปริมาณการให้อาหารจะขึ้นกับ % การให้ ให้ผลผลิต โดยพิจารณาตามตาราง

การเลี้ยงเป็ดไข่-ตารางการให้อาหารระยะปลด

หมายเหตุ เบอร์อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ดระยะไข่คือ    599 D      ดี -5      ส 6 D      6656 D

การที่ไม่ให้เป็ดกินอาหารเต็มที่ในช่วงแรกของการให้ไข่เนื่องจาก เป็นการป้องกันการเกิดไข่แฝด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เป็ดก้นทะลัก  แต่อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงเป็ดในโรงเรือนเปิด สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการกินอาหารได้ของเป็ด ดังนั้นในแต่ละวันปริมาณอาหารที่เป็ดกินได้อาจไม่เท่ากัน จึงควรให้อาหารแต่พอดี ในหนึ่งวันต้องมีช่วงที่อาหารหมดรางอาหาร ห้ามมีอาหารเหลือข้ามวันเพราะทำให้อาหารเน่าเสีย ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นเป็ดไม่กินอาหาร หรือถ้าหากกินอาจมีผลเสียต่อสุขภาพเป็ดได้

การจัดการรังไข่ และเก็บไข่

ตอนกลางคืน (21:00 – 6:00น.) ควรเปิดไฟให้มีความเข้มแสงประมาณ 5 Lux ในบริเวณรังไข่ และบริเวณรังไข่ควรมีประตู โดยจะเปิดประตูเฉพาะเวลาที่ให้แสงในเวลากลางคืน และปิดในเวลากลางวัน เพื่อให้เป็ดรู้เวลาเข้าไข่ นอกจากนี้ภายในรังไข่ต้องมีวัสดุรองพื้น ได้แก่ แกลบ หรือฟาง ที่แห้ง สะอาด ปราศจากความชื้น เพื่อป้องกันไข่สกปรก ควรเก็บไข่วันละ 2 ครั้ง (เช้า 6.00 น และ 10.00 น )    โดยเก็บไข่ที่อยู่นอกพื้นที่รังไข่ก่อน    ถ้าพบว่ามีเป็ดอยู่ในพื้นที่รังไข่ ควรต้อนเป็ดออกมาก่อน และต้องมั่นใจได้ว่าไม่มีไข่ตกค้างอยู่ในรังไข่ รวมทั้งในเวลากลางวันไม่ควรให้เป็ดเข้าไปในพื้นที่รังไข่ มิฉะนั้นจะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมการกกไข่ ซี่งส่งผลให้ผลผลิตไข่ลดลง

จากการทดลองเก็บไข่เป็ดสดในสภาวะต่างๆพบว่า ที่อุณหภูมิห้องสามารถรักษาความสดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้เพียง 10 วัน ที่อุณหภูมิห้องเย็นได้ 25 วัน และที่อุณหภูมิตู้เย็นได้มากกว่า 30 วันแต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บไข่เป็ดสดตามที่ USDA แนะนำ คือ 16 องศาเซลเซียส

การจัดการไข่เป็ดสด

การคัดไข่ แบ่งเบอร์ไข่ได้ดังตาราง ซึ่งไข่ต้องแห้งสะอาด หากไข่สกปรก หรือเปียกน้ำ ไม่ควรเก็บไว้เป็นเวลานาน หรือนำไปแปรรูปเป็นไข่เค็ม เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเน่าเสียได้สูง

การเลี้ยงเป็ดไข่-ตารางแสดงน้ำหนักไข่เป็ด

การรับเป็ดสาวเข้าเลี้ยง

    • ควรเลือกชื้อเป็ดสาวจากแหล่งที่เชื่อถือได้
    • ควรรับเป็ดสาวก่อนที่จะให้ไข่ เพื่อป้องกันปัญหาไข่แตกในช่องท้องระหว่างขนย้าย   และ เป็ดสาวควรมีอายุเดียวกันทั้งฝูง
    • เป็ดสาวควรมีน้ำหนักเฉลี่ยตามมาตรฐานสายพันธุ์
    • เมื่อเป็ดสาวมาถึงฟาร์ม ควรให้เป็ดได้กินน้ำก่อนให้อาหารประมาณ  1 – 2  ชั่วโมง
    • ควรคัดเป็ดที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์   เป็ดเพศผู้   ออกจากฝูง
    • ควรถ่ายพยาธิ  และ  ทำวัคซีน    ตามโปรแกรมที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่

การปลดเป็ด

การปลดเป็ด  คือ  การนำฝูงเป็ดเก่าออกจากฟาร์ม    เพื่อเตรียมโรงเรือนสำหรับรับเป็ดสาวฝูงใหม่เข้าเลี้ยง    การปลดเป็ดควรคำนึงจาก

  • อายุครบปลด
  • ความคุ้มทุนของการเลี้ยง
  • สภาวะตลาด

เมื่อถึงวันจับเป็ดทางฟาร์มมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้

  • อดอาหารก่อนจับเป็ด 3 – 4   ชั่วโมง
  • สุ่มน้ำหนักเป็ดเพื่อหาน้ำหนักเฉลี่ยของฝูง ประมาณ 1 – 2 %
  • ต้อนเป็ดด้วยความระมัดระวัง
  • ตรวจนับจำนวนเป็ดที่ขายให้ครบจำนวน

ท่านสามารถ ดาวโหลด เอกสาร คู่มือการเลี้ยงเป็ดไข่ ฉบับเต็มได้ที่ นี่เลยครับ คู่มือการเลี้ยงเป็ดไข่

แชร์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ. (เรียนรู้เพิ่มเติม)