ก เอ๋ย ก ไก่ ปลอดภัย ไร้ยา
คุณเคยผ่านตากับข้อมูลเหล่านี้ไหม ผู้หญิงไม่ควรกินปีกไก่ เพราะเวลาฉีดฮอร์โมนเร่งโตมักจะฉีดที่บริเวณคอหรือปีกไก่ ทำให้มีสารตกค้าง เสี่ยงต่อการเป็นซีสต์ในมดลูก หรือไม่ควรกินเนื้อไก่มากเกินไป เพราะในการเลี้ยงไก่มีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก ทำให้เกิดพิษตกค้างในตับและไตของมนุษย์ แถมยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในมนุษย์ด้วย ข้อมูลที่ส่งต่อกันมาเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ เมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณจะพบคำตอบเอง
ไก่ไทย มาตรฐานส่งออก
รู้ไหมเอ่ย…ประเทศไทยส่งออกเนื้อไก่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2558 ประเทศไทยส่งออกไก่สด ไก่แช่เย็น ไก่แช่แข็ง ไก่แปรรูปรวมๆ แล้วมากถึง 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 78,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญก็คือ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้มีข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารสูงมาก อย่างอียูนั้นมีกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะและสารเร่งการเจริญเติบโตในไก่เนื้อเพื่อการบริโภคอย่างเด็ดขาดมาร่วม 10 ปี ประเทศไทยจึงต้องมีกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มงวดเพื่อรองรับ ทั้งมาตรฐานฟาร์ม มาตรฐานโรงงาน ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบรับรอง เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของประเทศคู่ค้า เป็นกฎเหล็กทางกฎหมายที่ไม่มีผู้ประกอบการไก่เนื้อเจ้าใดกล้าละเมิดแน่นอน เพราะมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ หากพบสารต้องห้าม สามารถรู้ได้เลยว่ามาจากประเทศไหน ฟาร์มไหน นั่นอาจหมายถึงการถูกตีกลับ ไปถึงขั้นห้ามนำเข้าไก่เนื้อจากเมืองไทยทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนั้นก็งานเข้ากันทั้งประเทศเลยล่ะทีนี้
หน่วยงานหลักของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ กรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ ผอ. สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เคยให้สัมภาษณ์กับรายการชัวร์ก่อนแชร์สำนักข่าวไทยว่า
“ในฐานะที่ผมเป็นสัตวแพทย์และดูแลด้านกระบวนผลิต ผู้บริโภคสบายใจได้ เนื้อไก่ในประเทศไทยไม่มีการใช้สารเร่งแน่นอน การผลิตทุกวันนี้เป็นการผลิตที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาอาหารสัตว์เพื่อให้ไก่เจริญเติบโตได้ดีและไทยเป็นประเทศส่งออกไปขายทั่วโลก ถ้าทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานหรือมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เราก็จะไม่สามารถส่งออกได้ เรื่องที่แชร์กันว่า ไก่ไทยใช้ฮอร์โมนเร่งโตไม่จริงแน่นอน เพราะผิดกฎหมาย”
นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว หากคิดจะฉีดสารเร่งโตกันจริงๆ ตามข้อมูลที่แชร์ต่อกันมาต้องฉีดเป็นรายตัวและฉีดอย่างต่อเนื่อง ลองคิดดูว่าถ้าฟาร์มหนึ่งมีไก่สามสี่หมื่นตัวจะทำอย่างไร ต้นทุนการเลี้ยงจะสูงเกินไป ไม่คุ้มค่าที่จะทำ
ในส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งกระทรวงฯ ที่ 417/2529 มาตั้งแต่พ.ศ. 2529 (นับนิ้วมาถึงปัจจุบันก็ 31 ปีแล้ว) ประกาศห้ามใช้ยาเฮ็กโซเอสตรอล (Hexoestrol) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับตอนสัตว์ปีกและเป็นฮอร์โมนสำหรับรักษาสัตว์ ซึ่งยาที่ห้ามก็คือ สารเร่งการเจริญเติบโตนั่นเอง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมไก่เนื้อจะใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโต เพราะผิดกฎหมายชัวร์ๆ และยานี้ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย ถ้าอยากใช้ก็ต้องลักลอบนำเข้า
ไก่ปลอดยา คนปลอดภัย
สำหรับเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบัน มีกำหนดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์(Animal Welfare) คุ้มครองอยู่คือ ใช้เพื่อรักษาสัตว์ป่วย และใช้อย่างมีเหตุผลเท่านั้น โดยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของสัตวแพทย์ และต้องมีระยะหยุดใช้ยาจนไก่ปลอดภัยจากสารตกค้างจึงจะถูกส่งเข้ากระบวนการแปรรูปต่อไป แถมก่อนส่งออกจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองว่าปลอดภัยจากเชื้อดื้อยาจากกรมปศุสัตว์ เพราะประเทศไทยและประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องระบบการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะและการตรวจสอบสารตกค้างในอาหาร
แต่ถ้าจะทำให้ไก่ปลอดยาปฏิชีวนะตลอดกระบวนการเลี้ยงเลยล่ะ จะทำได้ไหม
ทำได้สิเพราะหัวใจหลักของการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะต้องย้อนกลับมาที่พื้นฐานที่สุด ก็คือ “ทำอย่างไรให้สัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย” (ไม่ต่างจากคน ไม่ป่วยก็ไม่ต้องกินยา)
หลักการเลี้ยงไก่ให้ปลอดยาปฏิชีวนะนั้น ต้องมีการควบคุมตลอดกระบวนการผลิต เริ่มกันตั้งแต่ต้นทางที่เกษตรกรคัดแยกลูกไก่จากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ มีอายุไข่ที่เหมาะสม มีการฆ่าเชื้อไข่ฟัก การจัดการโรงฟักที่ดี จนถึงการบริหารจัดการไก่ภายในโรงเรือนก็เป็นปัจจัยสำคัญ คือต้องมีระบบป้องกันโรค (Biosecurity) ที่เข้มงวด ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือนก่อนนำไก่เข้าเล้า ตรวจสอบเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับแกลบหรือวัสดุที่ใช้รองพื้นเล้า ระหว่างการเลี้ยงก็ต้องดูแลให้อุณหภูมิในโรงเรือนมีความเหมาะสมและทั่วถึงไก่ทุกตัว มีการเก็บอาหารสัตว์ในที่มิดชิด ป้องกันสัตว์และสิ่งปนเปื้อน รวมถึงมีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดอย่างสม่ำเสมอ
“หัวใจสำคัญของการเลี้ยงไก่ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ เริ่มจากเกษตรกรจะต้องเพิ่มการดูแลไก่ในโรงเรือนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยไม่ละเลยข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการปนเปื้อนทุกอย่างอย่างเข้มงวด” นายสัตวแพทย์นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เล่าถึง “โครงการนำร่องเลี้ยงไก่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ” ซึ่งซีพีเอฟดำเนินการมาตั้งแต่พ.ศ. 2557 ปัจจุบันโครงการนี้ประสบผลสำเร็จน่าพอใจ จึงนำความรู้ชุดนี้มาเผยแพร่สู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร รายย่อย (Contract Farming) ให้นำหลักการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะไปใช้ได้ทุกฟาร์ม โดยมีเป้าหมายให้ฟาร์มทุกแห่งทั่วประเทศปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะได้ภายในพ.ศ. 2561
ถ้าสามารถป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้ไก่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และไก่สามารถดำรงสุขภาพอย่างแข็งแรงได้ตั้งแต่ฟักเป็นตัว กระทั่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป จนถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร
“บริษัทฯ จะนำความสำเร็จของโครงการนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติกับธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อในทุกประเทศที่บริษัทไปลงทุน เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไก่เนื้อให้สูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับและมั่นใจของผู้บริโภคทั่วโลก”
นายสัตวแพทย์นรินทร์ย้ำจุดหมายปลายทาง ซึ่งหมายความว่าไอเดียของคนไทย บริษัทไทย จะกลายเป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งบรรทัดสุดท้ายของความสำเร็จนี้ ก็เพื่อส่งต่อสุขภาพที่ดีผ่านอาหารที่ปลอดภัย (Food Safety) ให้กับผู้บริโภคคนไทยและคนทั่วโลกนั่นเอง
กะเพราไก่ ไก่ย่าง ไก่ทอด ลาบไก่ ยำไก่ ไก่เทอริยากิ ฯลฯ แค่คิดก็หิวแล้ว
เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ข้อควรระวังของการบริโภคไก่ คงไม่ใช่เรื่องสารเร่งโตหรือสารปฏิชีวนะตกค้าง แต่น่าจะเป็นเรื่องการกินอาหารให้สมดุล กินหลากหลาย ครบทุกหมู่ กินผักบ้าง และอย่ากินมากเกินไป เดี๋ยวอ้วน นะเออ