โคนมสนทนา EP: 4 นมหนืด..แก้ไขและป้องกันได้

นมหนืด..แก้ไขและป้องกันได้

นมหนืด..แก้ไขและป้องกันได้

น้ำนมทุกหยดที่ผลิตออกมา คือรายได้หลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น มีปริมาณน้ำนมบางส่วนที่รีดออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถส่งขายได้เนื่องจาก..ไม่ผ่านการตรวจ ซี เอ็ม ที ..เพราะเมื่อนำน้ำนม ไปทดสอบด้วยน้ำยา ซีเอ็มที(California mastitis test) ได้ลักษณะ สีม่วงเข้ม เหนียวหนืด เป็นวุ้น ของน้ำนม เนื่องจากการที่ในน้ำนมมีปริมาณของ “เซลล์โซมาติก” จำนวนมาก และเซลล์โซมาติกเหล่านั้น ทำปฏิกิริยากับน้ำยาซีเอ็มที นั่นเอง

เซลล์โซมาติก ในน้ำนมนั้นคืออะไร ? … มาจากไหน?… เพิ่มสูงขึ้นเมื่อตั้งทิ้งไว้ได้หรือไม่? …เซลล์โซมาติก (Somatic cell) คือเซลล์จากตัวของแม่โคเองประกอบด้วยเม็ดเลือดขาว และเซลล์บุเนื้อเยื่อสร้างน้ำนม แต่ส่วนใหญ่ก็คือเซลล์เม็ดเลือดขาวนั่นเอง

เม็ดเลือดขาวเปรียบเสมือนทหารที่คอย ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกาย เมื่อมีเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมรุกล้ำเข้ามาภายในเต้านม ร่างกายจะเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวให้มากขี้นเพื่อให้สามารถจับกินเชื้อโรคในเต้านมได้ทั้งหมด ในสภาพนี้เต้านมโคจะไม่แสดงอักเสบให้เราเห็น แต่จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนมจะมีปริมาณสูง

แต่ในกรณีที่เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจับกิน เชื้อโรคเชื้อในเต้านมได้ทั้งหมด เต้านมจะมีความผิดปกติ คือเกิดอาการเต้าบวมแข็ง น้ำนมเป็นลิ่ม หนอง หรือนมเปลี่ยนเป็นสีแดงอมชมพู หรือนมกลายเป็นน้ำใส นี่คือสัญญาณอันตรายของของการเกิด “เต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ”

 

 

 

 

 

 

     เมื่อจำนวนเซลล์โซมาติกเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณน้ำนม    ด้านปริมาณ ..พบว่าเมื่อเซลล์โซมาติกเพิ่มสูงเกิน 5 แสนเซลล์… จากแม่โคที่ให้น้ำนม 10 ลิตรต่อวันนั้น ปริมาณน้ำนมจะหายไปถึง 1 ลิตร ส่วนด้านคุณภาพ…จะส่งผลกระทบทำให้ ไขมันในน้ำนม  รวมไปถึง ปริมาณของแข็งรวมในน้ำนม ลดลง ตามไปด้วย

 

เป้าหมายสำคัญของการลดจำนวนเซลล์โซมาติก…คือลดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในต่อมสร้างน้ำนมและป้องกันเชื้อโรคใหม่ไม่ให้ผ่านเข้าสู่เต้านม..ทำได้ดังนี้

1.ลดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่เต้านมในช่วงรีดนม รูนมจะเปิดให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่เต้านมได้ คือช่วงรูนมเปิดในขณะรีดนม และรูนมจะปิดหลังจากการรีดนมเสร็จ 30 นาที ดังนั้นต้องลดเชื้อโรคที่ อยู่บริเวณปลายหัวนมและในรูนมโดยการจุ่มเต้าก่อนรีดและรีดนมต้นทิ้ง และลดเชื้อไม่ให้เข้าเต้าหลังรีดโดยการจุ่มเต้าหลังรีดนมและให้เม่โคยืนกินอาหารหยาบต่อในคอกอีก 30 นาทีเพื่อให้ปลายรูนมปิดสนิท

2.ตรวจเช็ค และเปลี่ยนอุปกรณ์การรีดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้สัมผัสกับรูหัวนมโดยตรง เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และนอกจากนี้ หากระบบรีดนมทำงานผิดปกติเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อปลายหัวนมได้

3.หมั่นทำความสะอาดคอก และซองนอนของแม่โคให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ เนื่องจากคอกและซองนอนที่สกปรก คือธนาคารเชื้อโรคที่คอย ส่งเชื้อเข้าเต้านมได้ตลอดเวลา

4. การสอดยาดราย จะเป็นการรักษาโรคเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการที่ได้ผลดี เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีการรีดนม รูนมปิด และความเข้มข้นของยาในเต้านมจะสูง และออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ทำให้สามารถกำจัดเชื้อโรคที่ค้างอยู่ในเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.พิจารณาคัดทิ้งแม่โคที่มีปัญหาเต้านมอักเสบมากกว่า 3 ครั้งใน 1 รอบการให้นม เนื่องจากแม่โคเหล่านี้จะเป็นตัวสะสมเชื้อโรคและแพร่กระจายสู่แม่โคตัวอื่น และทำให้ค่าเฉลี่ยของเซลล์โซมาติกในถังนมสูงอีกด้วย

 

ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของเซลล์โซมาติก ได้แก่                                                                                                                                   

1.ชนิดของเชื้อโรคเชื้อโรคประเภทที่อาศัยและฝังตัวอยู่ในต่อมสร้างน้ำนม จะส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์โซมาติกสูงกว่าเชื้อโรคที่พบตามสภาพแวดล้อม

2.อายุของแม่โค พบว่าแม่โคที่ให้นมมานาน จะมีความเสียหายของหัวนม ทำให้มีโอกาสที่จะพบเซลล์โซมาติกในน้ำนมสูงกว่า

3.ระยะของการให้นม แม่โคที่ให้นมในระยะแรก และแม่โคที่ให้นมมานาน (ใกล้ดราย) จะมีปริมาณเซลล์โซมาติกสูงกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าความเครียดที่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของการให้อาหารทั้งอาหารข้นอาหารหยาบ , การรีดนม , สภาพอากาศ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นทำให้ปริมาณเซลล์โซมาติกเพิ่มสูงขึ้นได้