โคนมสนทนา EP:3 ผลกระทบของความเครียดจากความร้อนที่มีต่อโคนม

ผลกระทบของความเครียด ที่มาจากความร้อน

ผลกระทบของความเครียดจากความร้อนที่มีต่อโคนม

เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าร้อน .ก็จะได้ยินคำถามจากพี่ๆสมาชิก ทำไมโคไม่กอาหาร หรือกินอาหารลดลง? ทำไมผลผลิตน้ำนมและองค์ประกอบน้ำนมแกว่งขึ้น-ลง? ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายรับของฟาร์มสมาชิกแทบทุกฟาร์ม โคนมสนทนาฉบับนี้จึงนำประเด็นเรื่อง ความเครียดจากความร้อน มาถ่ายทอดให้พี่ๆสมาชิกได้เข้าใจถึงสาเหตุ รวมถึงแนวทางในการจัดการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อแม่โคในฟาร์มของพวกเราได้

ความเครียดจากความร้อน คืออะไร

ความเครียดจากความร้อน คือ การที่โคไม่สามารถระบายความร้อนส่วนเกินออกจากตัวได้อย่างเพียงพอ ทำให้มีความร้อนสะสมในร่างกายโคมาก ส่งผลให้กระทบต่อ ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน ผลผลิต ระบบสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต หรือหากรุนแรงมากอาจทำให้โคถึงแก่ความตายได้ ซึ่งความเครียดจากความร้อนจะเกิดแก่ตัวสัตว์มากขึ้นเมื่ออากาศร้อนขึ้น และชื้นขึ้น

ความเครียดจากความร้อน เกิดมาจากไหน ?

  • เกิดจากการสะสมความร้อนที่โคได้รับจากแสงแดด
  • เกิดจากการสะสมความร้อนในร่างกายที่เกิดจากการย่อยอาหารของแม่โค …ความร้อนที่เกิดจากการย่อยอาหารหยาบ สูงกว่า การย่อยอาหารข้น (ดังนั้น หากเลือกได้โคจะพยายามเลือกกินอาหารหยาบให้น้อยลง)
  • การถ่ายเทความร้อน จากโคตัวหนึ่งสู่โคตัวอื่นๆ เกิดขึ้นในกรณีที่ พื้นที่ร่มเงาสำหรับโคไม่เพียงพอ หรือ โคอยู่กันอย่างหนาแน่นในคอก

รู้ได้อย่างไรเมื่อโคในฟาร์มเกิดความเครียดจากความร้อน

  • ปริมาณการกินอาหาร (โดยเฉพาะอาหารหยาบ)และปริมาณน้ำนมลดลง (>10-15%) ไขมันนมลดลง (0.2-0.3%)
  • โคลดกิจกรรมต่างๆลง (กิน นอน เป็นต้น) แต่โคจะหายใจหอบ (มากกว่า 40 ครั้ง/นาที) อาจรวมไปถึงอ้าปากหายใจ น้ำลายไหล และโคจะยืนมากขึ้นและนอนน้อยลงเพราะการนอนทำให้โคหายใจได้ลำบากขึ้น
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น (> 39.2*C )
  • ประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์ลดลง อัตราการผสมติด/อัตราการตั้งท้องลดลง เนื่องจากกระเพาะหมักของโคเป็นเหมือนถังบ่ม ย่อยอาหารที่โคกินเข้าไปซึ่งผลที่ได้นอกจากโภชนะต่างๆที่จะนำไปใช้แล้ว ยังมีการผลิตความร้อนออกมาด้วย ดังนั้นในช่วงที่แม่โคได้รับความเครียดจากความร้อน แม่โคจะพยายามลดการผลิตความร้อนจากกระเพาะหมัก จึงส่งผลทำให้ปริมาณการกินอาหารลดลง ทำให้ผลผลิตน้ำนมลดลงตามไปด้วย

     

ยิ่งไปกว่านั้น แม่โคจะพยายามลดการกินอาหารหยาบ เพราะการหมักย่อยของอาหารหยาบจะผลิตความร้อนความร้อนมากกว่าอาหารข้น เมื่อโคลดการกินอาหารหยาบลง ก็ทำให้มีโอกาสเกิดสภาวะกระเพาะหมักเป็นกรด ส่งผลให้กีบเจ็บ และลดองค์ประกอบน้ำนม (ไขมันและโปรตีนในน้ำนม) นอกจากนี้ยังทำให้โซมาติกเซลล์สูงขึ้น(20-30 เปอร์เซ็นต์) และเพิ่มโอกาสเกิดปัญหาเต้านมอักเสบตามมาอีกด้วย

ในส่วนของระบบสืบพันธุ์เองก็ถูกกระทบด้วยความเครียดจากความร้อน เพราะกระทบวงรอบและปริมาณการหลั่งของฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ โดยโคจะเป็นสัดลดลง แสดงการเป็นสัดสั้นลง ระยะเวลาหลังคลอดจนเริ่มเป็นสัดแรกยาวนานขึ้น รวมทั้งอัตราการผสมติดต่ำลงด้วย เมื่อร่างกายโคร้อนขึ้นจะทำให้อุณหภูมิภายในมดลูกสูงขึ้น รวมทั้งเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกลดลง ซึ่งทำให้สภาวะดังกล่าวไม่เหมาะกับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วทำให้เกิดการสูญเสียตัวอ่อนในช่วงต้น (early embryonic deaths) และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการตั้งท้องลดลงนั่นเอง

จะช่วยลดความเครียดจากความร้อนได้อย่างไร

    • จัดหาน้ำดื่มสะอาดให้โคกินตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะหลังการรีดนม .”แม่โคต้องการน้ำ 3-4 ลิตร/การสร้างน้ำนม 1ลิตร”
    • จัดการพื้นที่ร่มเงาในโรงเรือนให้เพียงพอแก่จำนวนโค ให้มีพื้นที่อย่างน้อย 2.5 ตารางเมตรต่อตัว ความสูงโรงเรือนไม่ต่ำกว่า 3.6 เมตร
    • การจัดการอาหาร จัดหาอาหารหยาบคุณภาพดี ซึ่งสามารถย่อยได้ง่ายเพื่อลดความร้อนที่เกิดจากการหมักย่อย ทั้งนี้ควรระวังภาวะกระเพาะเป็นกรดในโคที่ให้ผลผลิตมากด้วย อาจเสริมด้วยการให้โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) ระดับ 110-225 กรัม/ตัว/วัน นอกจากนี้ควรมีการเพิ่มพลังงานโดยรวมของสูตรอาหาร
    • กระตุ้นการกินได้ของโคโดยเน้นการให้อาหารในช่วงเช้า เย็น หรือค่ำ ซึ่งอากาศจะเย็น ทำให้แม่โคกินได้เพิ่มขึ้น ส่วนการปรับเปลี่ยนอาหารในช่วงนี้ ควรค่อยๆปรับเปลี่ยนอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบต่อเรื่องการกินได้ของโค
    • การจัดการ หากต้องมีการจับบังคับโค เช่น การทำวัคซีน สูญเขา ถ่ายพยาธิ ให้ยาบำรุง ให้ทำในช่วงเช้าของวัน เพื่อลดความเครียดที่เกิดกับตัวโค สำหรับโคที่แสดงอาการชัดเจนอาจจัดแบ่งคอก เพื่อให้ร่มเงา หรือให้ความเย็น
    • การเพิ่มการระบายความร้อน อาจมีพัดลมช่วยในการระบายความร้อนซึ่งทำให้อากาศไหลผ่านในทางเดียวกัน และไม่ขัดขวางทิศทางลมตามปกติ พัดลมไม่ควรอยู่ชิดหลังคาโรงเรือนเพราะจะเป็นการดึง อากาศร้อนใต้หลังคามาสู่ตัวโค กรณีติดสปริงเกอร์ภายในคอก จำเป็นจะต้องมีพัดลมด้วยทุกครั้ง เพราะสปริงเกอร์ทำให้ความชื้นสูงขึ้น จึงต้องเพิ่มการระบายอากาศ